Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 กุมภาพันธ์ 2563

Econ Digest

แบงก์...ลดดอกเบี้ยกู้ สู้โคโรนาไวรัส

คะแนนเฉลี่ย
​​           หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 5 ก.พ. 2563 มีมติลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาที่ 1.00% อันเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์และธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ได้นำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MLR ตาม

           ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 1/63 ประมำณ 0.03-0.07% ต่อปี หรือคิดเป็นผลกระทบต่อกำไรสุทธิปี 2563 ประมาณ 2-5% ประกอบกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสต่อการท่องเที่ยวและธุรกิจ​ที่เกี่ยวข้อง จึงคาดว่าเอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ มีโอกาสขยับขึ้นจาก 2.98% เข้าสู่ระดับ 3.05-3.10% ในไตรมาส 1/63  ซึ่งจะมีผลให้ธนาคารพาณิชย์อาจยังคงตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพในระดับสูงต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ ภาวะสินเชื่อชะลอตัวเริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ไตรมาส 2/62 ต่อเนื่องมาจนต้นปี 2563 โมเมนตัมของสินเชื่อใหม่โดยเฉพาะสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี ยังคงอ่อนแอต่อเนื่องตามภาวะการใช้จ่ายในประเทศและการชะลอตัวของการส่งออก คาดว่าสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1/63 
จะขยายตัวในกรอบ 2.0%-2.2% โดยสินเชื่อที่ยังพอเติบโตได้จะเป็นสินเชื่อรายย่อย อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่ยังมีอำนาจซื้อ

              ในจังหวะที่ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถคาดหวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้มากนักน้ำหนักของงานจึงอยู่ที่การดูแลลูกค้าปัจจุบันให้สามารถรับมือกับภาวะที่ยอดขายลดและรายได้ชะลอ ด้วยการสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อต่อลมหายใจให้กับลูกค้า ผ่านโครงการสินเชื่อกับภาครัฐ อาทิ บสย. หรือ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ติดตามและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งนำไปสู่การปรับดอกเบี้ยให้กับลูกค้า ปรับเทอมหรือระยะเวลาของการชำระหนี้ไห้เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชาระหนี้ในระยะนี้แทน

               แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงเฉพาะหน้า โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส แต่ด้วยสถานะของระบบธนาคารพาณิชย์ที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อสำหรับหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) ที่สูงกว่า 1.4 เท่าของหนี้ด้อยคุณภาพทั้งหมด อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงถึง 19.2% รวมถึงสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้มั่นใจได้ว่าระบบการเงินไทยยังคงแข็งแกร่งและมีความสามารถรองรับความเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest