Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 พฤศจิกายน 2562

Econ Digest

ปลดล็อคขนส่งข้ามแดนไทย-เมียนมา

คะแนนเฉลี่ย

        การเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 และการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย-เมียนมา (IICBTA) เมื่อปลายเดือนต.ค. 2562 ที่บริเวณจุดเชื่อมต่อเมียวดี-ด่านแม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นด่านการค้าสำคัญที่สุดในการขนสินค้าไปยังใจกลางพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของเมียนมา โดยภายใต้ข้อตกลงนี้ รถขนส่งจะสามารถข้ามประเทศไปได้ลึกขึ้น และอยู่ในแต่ละประเทศได้นานถึง 30 วัน ซึ่งนอกจากช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนแล้ว ยังทำให้ไทยเป็นตัวกลางเชื่อมฐานการผลิตของเมียนมา-ไทย-สปป.ลาว และกลายเป็นประเทศผู้เชื่อมต่อการผลิตของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้เกือบครบ

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความสะดวกดังกล่าวจะทำให้การส่งออกผ่านด่านแม่สอด จ.ตาก ขยับสูงขึ้นเป็นมูลค่าใกล้เคียง 8 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ทำให้ภาพรวมการส่งออกชายแดนไทย-เมียนมา ปี 2563 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของการส่งออกทั้งหมดจากไทยไปเมียนมาขยับขึ้นมาแตะ 1.05-1.1 แสนล้านบาท ขยายตัว 3.0-8.0%

         ​ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานะการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดเมียนมาค่อนข้างดี สินค้าไทยที่ครองตลาดอย่างโดดเด่น ทั้งในแง่การขยายตลาดส่งออกหรือการไปลงทุนที่เมียนมาแทนการนำเข้าจากไทยยังคงเป็นสินค้าเดิมในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน มอเตอร์ไซค์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางรายการ ขณะเดียวกันก็ยังมีโอกาสในการส่งออกสินค้าอื่นไปตอบโจทย์ความต้องการของเมียนมา แต่อาจต้องเผชิญการแข่งขันอยู่บ้าง อาทิ ยารักษาโรค อาหารทารก และอาหารแปรรูปต่างๆ ขณะที่สินค้าในกลุ่มสนับสนุนภาคการผลิตเป็นสินค้าดาวรุ่งที่น่าจับตา แต่ก็ต้องแย่งชิงพื้นที่ตลาดกับสินค้าจีนที่ครองตลาดอยู่ราวครึ่งหนึ่ง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ เม็ดพลาสติก (เอธิลีน) กระดาษ ส่วนประกอบยานยนต์ ยางล้อ ขวดแก้ว และถุงพลาสติก เป็นต้น


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest