Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 กรกฎาคม 2562

Econ Digest

Social Media Data ใช้ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ขออนุมัติสินเชื่อได้...?

คะแนนเฉลี่ย
​​​            หนึ่งกระแสพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินที่เห็นได้ชัดในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาคือ การนำข้อมูลและเครือข่ายโซเชียลมาต่อยอดประกอบธุรกิจทางการเงิน จากสตาร์ทอัพที่นำข้อมูลโซเชียลมาปล่อยสินเชื่อ P2P มาจนถึงการที่บริษัทผู้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลเริ่มเปิดบริการทางการเงิน ทั้งการจ่ายโอน จนถึงบริการสินเชื่อ โดยนอกจากจะเป็นการเพิ่มช่องทางรายได้ของบริษัทเหล่านี้แล้ว โมเดลธุรกิจนี้ยังอาจขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินในกลุ่มประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการผ่านช่องทางสถาบันการเงินดั้งเดิมได้อีกด้วย แต่ กระแสดังกล่าวก็ยังมีประเด็นน่าคิดอยู่มาก:
           การใช้ข้อมูลเชิงสังคมในการประเมินคุณภาพลูกหนี้อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่ากับการใช้ข้อมูลทางการเงินปกติ
หนึ่งแรงส่งเสริมการที่แพลตฟอร์มโซเชียลเข้ามาทำธุรกิจให้บริการทางการเงินคือ แนวคิดว่าข้อมูลพฤติกรรมเชิงสังคมของผู้บริโภคสามารถถูกนำมาประเมินความเสี่ยงในการกู้ยืมได้ดีกว่า หรือเทียบเท่ากับข้อมูลทางการเงิน แต่ได้มีการศึกษาหลายรายชี้ให้เห็นว่า ในความเป็นจริงข้อมูลเชิงสังคมอาจมีศักยภาพจำกัดในการประเมินความเสี่ยง ยกตัวอย่าง กรณีที่มีการศึกษาเครือข่ายสินเชื่อ P2P ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐฯ และพบว่า แม้ว่าผู้กู้ที่มีเครือข่ายเชิงสังคมมากจะมีแนวโน้มได้รับสินเชื่อสูงกว่าผู้กู้ซึ่งไม่มีข้อมูลเชิงสังคมในระดับเดียวกัน อัตราการชำระหนี้ในกลุ่มผู้ยืมที่มีข้อมูลเชิงสังคมมากกว่ากลับต่ำกว่าปกติ  ซึ่งนำไปสู่ประเด็นว่า การสร้างโมเดลธุรกิจการเงินโดยใช้ข้อมูลเชิงสังคมอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ ต้องมีศักยภาพในการคัดกรองข้อมูลที่มีคุณค่าจากกลุ่มข้อมูลทั้งหมด และอาจต้องมีข้อมูลทางการเงินมาเสริมด้วย
             ผู้ปล่อยกู้จะต้องหาช่องทางทดสอบประสิทธิภาพของโมเดลใหม่ของตน
               ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อ หรือธุรกิจประกันก็ตาม เมื่อเทียบกับการใช้ข้อมูลทางการเงินปกติแล้ว โมเดลที่ใช้ข้อมูลโซเชียลยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ซึ่งการทดสอบโมเดลจะต้องมีประวัติพฤติกรรมการชำระหนี้ซึ่งควบคู่ไปกับข้อมูลโซเชียลเสียก่อน ทำให้บริษัทเช่น Lenddo ระบุว่า การให้บริการของบริษัทในช่วงเริ่มแรกนั้น ไม่ได้ให้น้ำหนักกับอัตราการชำระหนี้มากเมื่อเทียบกับการที่บริษัทได้เก็บข้อมูลและทดสอบประสิทธิภาพของโมเดลประเมินความเสี่ยงของตน ในทางกลับกัน การที่บริษัทเช่น Facebook เริ่มให้บริการทางการเงินด้วยการบริการโอนเงิน ก็อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างฐานข้อมูลพฤติกรรมทางการเงิน ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดขยายธุรกิจไปยังการปล่อยสินเชื่อก็เป็นได้ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดประเด็นที่อาจกระทบผู้บริโภคไม่น้อย เช่น   การที่มูลค่าสินเชื่อที่ผู้บริโภคสามารถกู้ยืมได้ในช่วงเริ่มแรกมักจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ในขณะที่ในอนาคตผู้บริโภคอาจจะต้องพบกับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น เมื่อผู้ให้บริการขยับจากขั้นตอนทดสอบโมเดล ไปสู่การสร้างกำไรนั่นเอง 
               การกำกับการเข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมบนแพลตฟอร์มโซเชียลจะกลายเป็นประเด็นสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคต
ณ ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคไปใช้ในทางที่ผู้บริโภคไม่พึงประสงค์ได้  แต่ในโลกใหม่ที่ข้อมูลเชิงโซเชียลสามารถถูกนำไปช่วยสร้างโปรไฟล์เครดิตเพื่อการให้บริการทางการเงินได้ การที่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคถูกจำกัดให้อยู่ในมือของผู้ให้บริการโซเชียลรายใดรายหนึ่ง จะเป็นอุปสรรคในการที่ผู้เล่นอื่นจะเข้ามาในตลาด (Barrier to Entry) ซึ่งอาจนำพาไปสู่ความเสียเปรียบสำหรับผู้บริโภคที่ไม่มีช่องทางกู้ยืมอื่นก็เป็นได้ แม้บริษัทอื่นจะสามารถทำการขอความยินยอมการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค ความยุ่งยากที่เพิ่มขึ้นมาก็ยังเป็นความได้เปรียบให้บริษัทที่ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลที่เป็นต้นกำเนิดข้อมูลอยู่ดี 
               ซึ่งในจุดนี้ ทางการอาจต้องพิจารณาว่า หากในอนาคตข้อมูลเชิงโซเชียลได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถถูกนำไปปล่อยสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ข้อมูลเชิงโซเชียลอาจจะต้องได้รับการจำแนกว่าเป็นทรัพยากรสำคัญ ซึ่งการเข้าถึงควรต้องได้รับการกำกับดูแลโดยทางการ ให้แต่ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่ามีคุณสมบัติให้บริการผู้บริโภคเข้าถึงได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่จำกัดอยู่เพียงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเพียงไม่กี่ราย จนอาจนำไปสู่ความเสียเปรียบสำหรับผู้บริโภค ยกตัวอย่าง ในกรณีอินเตอร์เน็ต ซึ่งไม่ว่าผู้อ่านจะใช้บริการอินเตอร์เน็ตจากผู้ให้บริการรายใด บริษัทก็ไม่มีสิทธิปิดกั้นไม่ให้ผู้ให้บริการเสริมที่ได้รับอนุญาตรายอื่นเข้ามาแข่งขันให้บริการเสริมผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของตน เช่น กรณีที่ผู้อ่านใช้อินเตอร์เน็ตของ AIS แต่ก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้บริการเสริม AIS Play หรือ Netflix เป็นต้น ซึ่งการกำกับเช่นนี้สอดคล้องกับการที่ ณ ปัจจุบัน การเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตถือได้ว่าเป็นสาธารณูปโภคชนิดหนึ่ง ซึ่งในอนาคต ข้อมูลเชิงโซเชียลก็คงจะมีความสำคัญไม่แพ้กัน
          


ที่มา: Business Insider; Forbes; ‘The Information Value of Online Social Networks’ – Freedman, S. and G. Z. Jin (กุมภาพันธ์ 2561) The Nation



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest