Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 ธันวาคม 2562

Econ Digest

สงครามการค้าหนุน! ยอดขอรับ BOI จากต่างชาติ 9 เดือนแรกยังขยายตัว

คะแนนเฉลี่ย

​ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งจากผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 อยู่ที่ 3.14 แสนล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 11% (YoY) แต่หากพิจารณาจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนนั้น กลับมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งการลงทุนของผู้ประกอบการไทย[1] ที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 28% (YoY) หรือการลงทุนของผู้ประกอบการต่างชาติ[2] ที่เพิ่มขึ้นราว 2% (YoY) สะท้อนให้เห็นว่า ภาคเอกชนยังมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของการลงทุนในประเทศไทยอยู่ เพียงแต่ภาพรวมของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนนั้น อาจถูกกดดันจากฐานของมูลค่าการลงทุนในปีที่ผ่านมาซึ่งสูงจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของผู้ประกอบการไทย (โครงการลงทุนผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) มูลค่ากว่า 1.68 แสนล้านบาท)[3]

 

              ข้อสังเกตอีกประการที่น่าสนใจคือ สัญญาณการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นบวก ทั้งในแง่ของจำนวนโครงการและมูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน โดยมูลค่าการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 นี้ขยายตัวได้ถึงเกือบ 69% (YoY) ทั้งนี้ สัดส่วนกว่า 80% ของยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นการขยายกิจการที่มีอยู่แล้วภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าบางส่วนได้รับอานิสงส์ของกระจายการลงทุนเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยเพิ่มกำลังการผลิตในไทยที่บริษัทแม่มีฐานการผลิตอยู่แล้ว 

            มองไปในช่วงที่เหลือของปี 2562 ระยะเวลาที่เหลืออีกเพียง 3 เดือนอาจไม่เพียงพอที่จะดึงดูดตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตั้งไว้ตอนต้นปีที่ 7.5 แสนล้านบาท เนื่องจากเป้าหมายดังกล่าวอาจประเมินมาจากมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากปีก่อนหน้าที่สูงมากกว่าปกติจากการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี ทั้งจากโครงการของผู้ประกอบการไทยดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นและจากโครงการของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสที่ 4/2561

              อย่างไรก็ดี การมองภาพการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพียงช่วงระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งอาจไม่สามารถบ่งชี้ถึงศักยภาพของประเทศการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระยะยาวได้ ด้วยเหตุนี้ หากใช้มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ลงทุนจริงตามข้อมูลจากดุลการชำระเงินเป็นเครื่องบ่งชี้ความน่าดึงดูดของการลงทุนเพื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว จะเห็นได้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนโดยตรงสุทธิ (Net FDI inflow) ของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มแข่งขันกันดึงดูด FDI ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย จนอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า แท้จริงแล้ว ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะสามารถแปลงกลับมาเป็นเม็ดเงินลงทุนจริงในประเทศได้มากน้อยเพียงใด อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่นักลงทุนต่างชาติอาจพิจารณาปัจจัยอื่นควบคู่กันไป อาทิ ผลิตภาพแรงงาน หรือความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต้องเร่งพัฒนาไปพร้อมกัน เพื่อให้ประเทศไทยยังคงความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาวไว้ ​

 

[1] นับรวมโครงการร่วมลงทุนไทยและต่างประเทศที่นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นที่มีสิทธิ์ร่วมในการบริหารกิจการน้อยกว่าร้อยละ 10

[2] นับรวมโครงการร่วมลงทุนไทยและต่างประเทศที่นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นที่มีสิทธิ์ร่วมในการบริหารกิจการตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป

[3] https://www.energynewscenter.com​



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest