Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 มีนาคม 2563

Econ Digest

FED สู้วิกฤติ COVID-19 ลดดอกเบี้ยฯ เหลือ 0% พร้อมอัด QE อีก 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ

คะแนนเฉลี่ย

​         ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จัดประชุมฉุกเฉินอีกครั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มี.ค. 2563 ตามเวลาสหรัฐฯ นับเป็นครั้งที่สองก่อนการประชุมตามวาระปกติวันที่ 17-18 มี.ค. นี้ ซึ่งได้ถูกยกเลิกไป และเฟดก็จะยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจและ Dot Plot ชุดใหม่จนกว่าจะถึงการประชุมในเดือนมิ.ย.นี้ สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณสำคัญที่ตอกย้ำว่า ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังยกระดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดการเงินทั่วโลก

            เฟดประกาศลดดอกเบี้ยและใช้ QE เพื่อประคองความเชื่อมั่นและเสริมสร้างสภาพคล่องในระบบการเงิน โดยในการประชุมฉุกเฉินในครั้งนี้ เฟดไม่เพียงมีมติลดดอกเบี้ยนโยบายรวดเดียว 1.00% ลงมาอยู่ที่กรอบ 0.00-0.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ (เท่ากับช่วงวิกฤตซับไพรม์) เท่านั้น แต่ได้มีการปัดฝุ่นเครื่องมือผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ หรือที่รู้จักกันในนามของมาตรการ QE มาใช้อีกครั้ง โดยการทำQE รอบนี้มีวงเงินรวมไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ แบ่งเป็นการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างน้อย 5 แสนล้านดอลลาร์ฯ และหลักทรัพยที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนองซึ่งออกโดยหน่วยงานราชการ (Agency mortgage-backed securities) อย่างน้อย 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ  

                ไม่เพียงเท่านั้น เฟดยังร่วมมือกับอีก 5 ธนาคารกลางชั้นนำ ได้แก่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์ ธนาคารกลางแคนาดา และธนาคารกลางอังกฤษ ในการดูแลสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ฯ ในระบบการเงินโลก เพื่อลดสภาวะตึงตัวของตลาดเงินท่ามกลางความกังวลต่อภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งถูกจุดชนวนขึ้นจากการลุกลามอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19

                ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกไม่ตอบรับสัญญาณผ่อนคลายดังกล่าวในเชิงบวก ในทางกลับกันความกังวลต่อภาวะหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ (หรืออาจถึงขั้นถดถอย) กลับเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากการที่สินทรัพย์เสี่ยงยังคงถูกเทขาย และยังคงมีสัญญาณเงินทุนไหลออกจากหลายๆประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เพราะคงต้องยอมรับว่า การปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉินหลายรอบ พร้อมกับเริ่มมาตการ QE ของสหรัฐฯ  ตลอดจนสัญญาณการดูแลสภาพคล่องของระบบการเงินโลกโดยพร้อมเพรียงกันจากธนาคารกลางชั้นนำหลายๆ ประเทศ ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยนัก และสถานการณ์ล่าสุดที่อาจเทียบเคียงได้ก็น่าจะเป็นช่วงวิกฤตซับไพรม์ในช่วงปี 2550-2551

                ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของเฟด และธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศ เป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อลดความตื่นตระหนกที่มักจะเกิดขึ้นในสภาวะวิกฤต และอาจจำเป็นต้องประกาศเพิ่มมาตรการอีกหลายระลอกอีกในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ดี คาดว่า การดูแลสภาพคล่องและการคงดอกเบี้ยในระดับต่ำอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะกอบกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจให้พลิกกลับมาฟื้นตัวได้ ซึ่งทำให้คาดว่า มาตรการถัดไปที่ทางการสหรัฐฯ และหลายๆ ประเทศ จะต้องเร่งดำเนินการ ก็คือ การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เพื่อประคองกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest