Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 กันยายน 2563

Econ Digest

FED ปรับเป้าหมาย "นโยบายการเงินใหม่" กระทบค่าเงินบาท

คะแนนเฉลี่ย
                 นายเจโรม พาวเวล ประธานเฟดได้ออกมาประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญในการประชุม Jackson Hole ครั้งล่าสุด ( 27 สิงหาคม 2563) โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินมีมติเป็นเอกฉันท์ในการอนุมัติการปรับยุทธศาสตร์นโยบายการเงินและเป้าหมายในระยะยาว (Longer Run Goals & Monetary Policy) โดยปรับเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย (Flexible Average Inflation Targeting) แทนเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเดิมที่คงที่ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยระบุว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและอัตราว่างงานเริ่มปรับลดลง เฟดจะไม่จำเป็นต้องรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมระดับเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% ซึ่งหมายความว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% ได้ในบางช่วงเวลา ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำไปอีกสักพักจนกว่าเศรษฐกิจ และตลาดแรงงานจะเริ่มฟื้นตัวเต็มที่ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าเฟดมีความกังวลที่ลดลงต่อการเร่งตัวของเงินเฟ้อหากอัตราการว่างงานลดลง เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ว่าอัตราว่างงานของสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงมาจนอยู่ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทั้งนี้ รายละเอียดของการปรับเปลี่ยนดังกล่าว จะมีระบุเพิ่มเติมในการประชุมเฟด ในวันที่ 15-16 กันยายน 2563 โดยเฟดระบุว่าจะมีการทบทวน และปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์นโยบายการเงิน และเป้าหมายในระยะยาวในทุก ๆ 5 ปี เพื่อให้ทันกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 
                 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญ ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมถึงประเด็นทางการเมืองในสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว ดังนั้น การปรับเปลี่ยนเป้าหมายของเฟดเป็นรูปแบบเงินเฟ้อเฉลี่ยเป็นการเน้นย้ำว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยในระดับต่ำในกรอบเวลาที่ยาวนานขึ้น  ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คงจะมีผลในด้านค่าเงินเป็นหลัก โดยการเปิดช่องให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น จะยิ่งส่งผลให้ดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง และเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันภาคการส่งออกของไทยต่อไป





Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest