Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 มีนาคม 2563

Econ Digest

FTA สหภาพยุโรป-เวียดนาม พลิกโฉมการผลิตเวียดนาม ท้าทาย อุตสาหกรรมเทคโนโลยีไทย

คะแนนเฉลี่ย

​               ในที่สุด FTA ระหว่างสหภาพยุโรป (EU) กับเวียดนาม (EVFTA) ที่เจรจามายาวนานมากกว่า 7 ปี ก็พร้อมเปิดเสรีได้ในช่วงกลางปี 2563 ทันทีที่รัฐบาลเวียดนามลงนามรับรอง หลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรปอนุมัติความตกลงทางการค้า (European Union Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) และความตกลงการปกป้องการลงทุน (EU-Vietnam Investment Protection Agreement: EVIPA) เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2563 ซึ่ง FTA ฉบับนี้ยิ่งส่งผลให้สินค้าไทยเผชิญความท้าทายอีกครั้งในตลาด EU
อนึ่ง FTA ฉบับนี้เป็น FTA ฉบับแรกระหว่าง EU กับประเทศกำลังพัฒนาซึ่งก็คือเวียดนาม และมีการลดภาษีให้กันในระดับที่สูงถึง 99% ของรายการสินค้าที่ทำการค้ากันทั้งหมด โดยทันทีที่ FTA มีผลบังคับใช้ สินค้าเวียดนามจำนวน 85.6% จะลดภาษีเหลือ 0% ซึ่งในภาพรวมอาจไม่ส่งผลต่อภาพการค้าไทยมากนัก เนื่องจากตั้งแต่ไทยเสียสิทธิ GSP ไปในปี 2558 กลไกตลาดได้คัดกรองแล้วว่าสินค้าไทยที่มีความแข็งแกร่งเพียงพอจะได้ไปต่อเป็นสินค้าที่ใช้กระบวนการผลิตซับซ้อนในระดับหนึ่ง แต่สินค้าที่ต้องอาศัยแรงงานในการผลิตล้วนตกอยู่ในมือเวียดนามไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภท ดังนั้น สินค้าของไทยที่จะได้รับผลกระทบจริงๆ จึงมีเฉพาะตัวที่ในปัจจุบันทั้งไทยและเวียดนามเสียภาษีในอัตรา MFN เหมือนกัน หรือก็คือเป็นสินค้าที่เวียดนามไม่ได้รับสิทธิ GSP จาก EU ซึ่งในวันที่เริ่มใช้ EVFTA แม้จะทำให้สินค้าเวียดนามยิ่งได้แต้มต่อทางภาษีในการทำตลาด EU แต่สินค้าดังกล่าวก็เป็นกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้าที่ก็แทบจะไม่มีผลต่อการส่งออกของไทยเช่นกัน
            ขณะที่ภาพการลงทุนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลัง EVFTA คือ 1) การลงทุนปัจจุบันในกลุ่มสินค้าที่ไทยยังทำการผลิตและส่งออกไป EU ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับหนึ่ง อาจย้ายไปเวียดนามทำให้ไทยสูญเสียเม็ดเงินจากการส่งออกไป EU อย่างถาวร ขึ้นอยู่กับว่าเวียดนามจะยกระดับกำลังการผลิตให้เร่งขึ้นมาได้เร็วแค่ไหน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าไทย 75% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไป EU ที่ยังคงมีอัตราภาษี MFN ที่มากกว่า 0% (สินค้าอีก 25% มีอัตราภาษี MFN เท่ากับ 0%) อาทิ เครื่องพิมพ์ ส่วนประกอบเครื่องจักร เครื่องปรับอากาศ หม้อแปลงไฟฟ้า โทรทัศน์ กล้องดิจิทัลและกล้องถ่ายวีดีโอ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการผลิตของเวียดนามเร่งตัวอย่างน่าสนใจด้วยแรงขับเคลื่อนของนักลงทุนที่ทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามในช่วงที่ผ่านมาเพื่อใช้แต้มต่อทางภาษีของ FTA ที่เวียดนามได้รับกับอีกหลายประเทศ นอกจากนี้ 2) การลงทุนที่จะยังคงอยู่และช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทยต่อไปคือการผลิตที่ใช้วัตถุดิบในไทยเป็นหลักและยังคงต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้นอีกอย่างฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ แผงวงจรไฟฟ้า ยางธรรมชาติ ถุงมือยางทางการแพทย์ เซมิคอนดัคเตอร์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รวมทั้งยานยนต์และส่วนประกอบที่แม้จะมีภาษีแต่การผลิตของไทยก็นับว่าแข็งแกร่งและเป็นที่ต้องการของ EU


             นอกจากนี้ EUFTA อาจกล่าวได้ว่ามีมาตรฐานการเจรจาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ FTA ฉบับอื่นๆ ของไทย แต่กลับส่งผลดีต่อการพัฒนาการผลิตของเวียดนามให้ขยับขึ้นมาแข็งแกร่งได้ในอนาคต โดยเฉพาะในประเด็นที่เวียดนามยอมรับความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights: IPRs) ในระดับที่เข้มข้นกว่าที่ผูกพันธ์ไว้กับ WTO อันจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน EU ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเวียดนามยังเปิดให้นักลงทุน EU เข้ารับงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐบาลได้อย่างที่ไม่เคยเปิดให้ใครมาก่อน ดังนั้น ในระยะต่อไปการเจรจา FTA ของไทยกับ EU ทางการไทยต้องเตรียมแผนการเจรจาอย่างรอบคอบให้สอดคล้องกับมาตรฐานความตกลงที่สูงขึ้น
             จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เวียดนามพยายามเดินหน้าทำ ไม่ใช่แค่เพียงการทำให้สินค้าเวียดนามโดดเด่นในเวทีโลกเท่านั้น แต่ความสำเร็จของการเปิดตลาดจาก EVFTA ครั้งนี้จะพลิกโฉมการผลิตของเวียดนามในระยะข้างหน้าให้กลายเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีการผลิตซับซ้อนยิ่งกว่าเดิมเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งทางการผลิตเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่สามารถผลิตสินค้าทั่วไปได้อย่างโดดเด่นอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเวียดนามสามารถขจัดจุดอ่อนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีประสิทธิภาพได้เมื่อไหร่ หากเวลานั้นมาถึงไทยอาจไม่เพียงสูญเสียเม็ดเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงไปเท่านั้น แต่ไทยยังเสียโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตไปพร้อมกันด้วย


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest