• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2567 อาจคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท หรือ 0.16% ของ GDP ประเทศ
และจะเพิ่มสูงขึ้น หากสถานการณ์กินระยะเวลานานขึ้น หรือขยายขอบเขตไปยังพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น
• ความเสียหายหลักส่วนใหญ่จะตกในภาคเกษตร รายได้ครัวเรือน ซึ่งจะกระทบตามมาต่อการบริโภคและเศรษฐกิจไทยในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี
• ระยะข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ภัยพิบัติมีความเสี่ยงที่จะเกิดถี่และรุนแรงขึ้นอีก และจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นหากไม่มีการวางแผนรับมือ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ทำให้บางพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนของไทย
สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากยังไม่หมดฤดูฝน ทั้งนี้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ประเมินว่า พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน จะเคลื่อนจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ในเดือนกันยายนและตุลาคม มาเป็นภาคกลางและภาคใต้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม (รูปที่ 1)
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งพื้นที่และผลผลิตทางการเกษตร รายได้ของครัวเรือน ธุรกิจ/ผู้ประกอบการ รวมถึงสิ่งปลูกสร้าง/ที่อยู่อาศัย และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐ เช่น ถนนทรุด สะพานขาด เป็นต้น
น้ำท่วมปี 2567 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตกที่ภาคเกษตรและครัวเรือน สถานการณ์อาจรุนแรงขึ้น ขึ้นอยู่กับปริมาณฝน ระยะเวลาและพื้นที่
ภายใต้สมมติฐานน้ำท่วมแต่ละพื้นที่กินเวลาเฉลี่ยประมาณ 15 วัน และเกิดความสูญเสียต่อ Gross Provincial Product (GPP) ในสัดส่วนประมาณ 20% ของจังหวัดนั้นๆ ยกเว้นบางพื้นที่อย่างเชียงราย ที่น้ำท่วมซ้ำหลายรอบ ระยะเวลาจะมากกว่าเฉลี่ย และเชียงใหม่ ที่เกิดน้ำท่วมในเขตเมือง สัดส่วนความสูญเสียต่อ GPP จะมากกว่าเฉลี่ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2567 อาจคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือ 0.16% ของ GDP ประเทศ อย่างไรก็ดี ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวกินระยะเวลานานขึ้น หรือขยายขอบเขตไปยังพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองของภาคกลางและภาคใต้ ผลกระทบในกรณีเลวร้าย อาจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท หรือ 0.27% ของ GDP ประเทศ (รูปที่ 2)
แม้ในแง่เม็ดเงินผลกระทบปี 2567 จะน้อยกว่าปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัยซึ่งในปีนั้นกินระยะเวลานาน กระทบโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมและภาคการผลิตเป็นหลัก เพิ่มเติมจากภาคเกษตรและครัวเรือน แต่ภัยพิบัติในปีนี้ ก็นับว่ารุนแรงมากโดยเฉพาะในบางพื้นที่ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งความเสียหายหลักส่วนใหญ่จะตกในภาคเกษตร รายได้ของครัวเรือน และการท่องเที่ยวในบางจังหวัด ส่งผลกระทบตามมาต่อการบริโภคและเศรษฐกิจไทยในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การฟื้นฟูหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย คงจะมาจากงบประมาณของภาครัฐและการใช้จ่ายของภาคเอกชน ซึ่งคงช่วยหนุนกิจกรรมการก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านได้บางส่วน แต่ขณะเดียวกัน ครัวเรือนคงจำเป็นต้องก่อหนี้ ซึ่งก็จะมีผลกดดันการใช้จ่ายสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็นอื่นๆ ตามมา
ไปข้างหน้า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ทำให้ภัยพิบัติมีความเสี่ยงจะเกิดถี่และรุนแรงขึ้นอีก ดังนั้น ทุกฝ่ายควรวางแนวทางรับมือ เช่น การมีระบบเตือนภัยที่ชุมชน/ท้องถิ่นเข้าใจง่าย แผนปฏิบัติการฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุในแต่ละระดับ การทำประกันภัย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับความเสี่ยง เป็นต้น
|
Click ชมคลิป ผลจากอุทกภัยปี 2567 คาดกระทบไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.16% ของ GDP ประเทศ |
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น