Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 สิงหาคม 2564

Econ Digest

Food Delivery โควิด...ดันธุรกิจโตต่อ คาดปี 64 มูลค่าทะลุ 5.3 หมื่นลบ. ขยายตัว 18.4 – 24.4%

คะแนนเฉลี่ย


              ​การยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งรวมถึงการจำกัดการให้บริการของร้านอาหารเหลือเพียงช่องทางการสั่งซื้อที่หน้าร้าน คาดว่าจะส่งผลให้รายได้ของธุรกิจร้านอาหารทั้งปี 64 หายไปไม่ต่ำกว่า 6.0 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือ Food Delivery กลายเป็นช่องทางการสร้างรายได้หลักของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ในขณะที่การทำตลาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชันมอบส่วนลดและยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดส่ง ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยดึงดูดผู้บริโภครายใหม่และเพิ่มความถี่ในการใช้งานของผู้บริโภครายเดิม  ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 64 ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งที่บ้านน่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดในปี 62 ที่มีจำนวนประมาณ 35 – 45 ล้านครั้ง โดยมีมูลค่าธุรกิจรวมสูงถึง 5.31 – 5.58 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวสูงถึง 18.4 – 24.4% เมื่อเทียบกับปีที่ 63  ทั้งนี้  วิถีการใช้ชีวิตประจำวันในช่วงการระบาดยังส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการจัดส่งอาหารเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสนใจ กล่าวคือ  1.ระดับราคาเฉลี่ยต่อครั้งที่สั่งลดลง 20-25% จากปี63 จากปัจจัยด้านกำลังซื้อและการอัดโปรโมชันของผู้ประกอบการ 2. ร้านอาหารข้างทาง หรือ Street Food เข้ามามีบทบาทมากขึ้น  และคาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มากกว่า 40% ของมูลค่ารวมของธุรกิจจัดส่งอาหาร จากเดิมในปี 63 อยู่ที่ประมาณ 29%  3. พื้นที่การสั่งอาหารขยายสู่บริเวณกรุงเทพฯ รอบนอกและพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมากขึ้น สอดคล้องกับการปรับรูปแบบการทำงานของภาคธุรกิจมาเป็น Work from home และ Hybrid working 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและส่งผลต่อกิจกรรมการเข้ารับบริการในร้านอาหาร ทำให้มูลค่าของธุรกิจจัดส่งอาหารน่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง   โดยมีโจทย์ท้าทายที่สำคัญคือ การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหาร จำนวนออเดอร์เฉลี่ยต่อวันต่อรายของผู้จัดส่งอาหารที่คาดว่าจะลดลงจากจำนวนผู้ขนส่งอาหารที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการแข่งขันทำโปรโมชันด้านราคา ที่ทำให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารส่วนใหญ่ยังคงเผชิญความท้าทายในการสร้างผลกำไรสุทธิให้เป็นบวก โดยคาดว่าภาวะดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อเนื่องในอีก 1-2 ปี​ข้างหน้า และเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ควบคู่กับการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด  

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest