Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 กรกฎาคม 2563

Econ Digest

แป้งปลอดกลูเตน ตัวเพิ่มมูลค่า"มันสำปะหลังสด" ได้สูงถึง 486,000 ล้านบาท

คะแนนเฉลี่ย
          ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรขั้นต้นรายใหญ่ของโลก เมื่อเศรษฐกิจโลกได้ปรับไปสู่ฐาน New Normal ทำให้ราคาสินค้าเกษตรต้องเผชิญความผันผวน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรจึงต้องเร่งพัฒนาและต่อยอดให้เร็วที่สุด การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากฐานความรู้สมัยใหม่อย่างเศรษฐกิจชีวภาพจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร นอกจากเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยดูดซับอุปทานในประเทศอย่างยั่งยืน ยังสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศอีกด้วย

           จากปัจจัยสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และผลกระทบของโควิด-19 การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า อาจเติบโตไปได้อย่างระมัดระวัง  โดยมันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลังดิบ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้น มีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ รวมถึงยังต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงจากธัญพืชทดแทน และราคามันสำปะหลังของคู่แข่งอย่างเวียดนามที่ถูกกว่า ขณะที่สินค้าขั้นกลางอย่างแป้งมันสำปะหลังดัดแปร ถึงแม้ว่ามีแนวโน้มขยายตัวได้ดี แต่ระดับการขยายตัวลดลง ดังนั้น ไทยจึงควรมุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าขั้นกลางชนิดใหม่จากมันสำปะหลัง ที่มีแนวโน้มการเติบโตดีตามเทรนด์การบริโภคของตลาดโลกในระยะยาวและมีมูลค่าเพิ่มสูง อย่างแป้งปลอดกลูเตน ซึ่งสามารถส่งเสริมให้เป็น Product Champion อีกชนิดหนึ่งได้

          ​ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2563-2564 หากไทยสามารถแบ่งมันสำปะหลังสด 10% จากที่มีอยู่ราว 30 ล้านตัน มาผลิตเป็นแป้งปลอดกลูเตน จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ราว 2.3 เท่าของมูลค่าหัวมันสำปะหลังสดที่ขายได้ หรือคิดเป็นเงินราว 137,000 ล้านบาท และหากในปี 2570 มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ดีขึ้น สามารถนำหัวมันสำปะหลังสด  40% มาแปรรูปเป็นแป้งปลอดกลูเตน จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 8.2 เท่า หรือราว 486,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจแป้งปลอดกลูเตนของไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ทำให้มีปริมาณการผลิตเชิงพาณิชย์ไม่มากนัก เนื่องจากความรู้ในเทคโนโลยีการผลิตยังจำกัดในเฉพาะกลุ่ม อย่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้มีโรงงานผลิตแป้งปลอดกลูเตนรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ความสำเร็จของการผลิตแป้งปลอดกลูเตนเพื่อส่งออกของไทย จึงควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest