Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 ตุลาคม 2563

Econ Digest

คนละครึ่ง ลดภาระผู้ซื้อ เพิ่มยอดขายร้านค้า

คะแนนเฉลี่ย

             มาตรการ “คนละครึ่ง" ที่จะเริ่มในเดือนต.ค.-ธ.ค. 2563 นอกจากจะกำหนดวงเงินคนละไม่เกิน 3,000 บาท เป็นจำนวน 10 ล้านคนแล้ว ยังมีเงื่อนไขอื่นที่แตกต่างไปจากมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ออกมาก่อนหน้า คือ มีการจำกัดวงเงินให้ใช้ไม่เกิน 150 บาทต่อวัน ทำให้สินค้าที่เข้าข่ายมีมูลค่าไม่สูงนัก เน้นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อีกทั้งมาตรการฯ ดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดเล็กเท่านั้น จึงเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการค้าปลีกมีโอกาสเพิ่มยอดขายในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ และยังเป็นโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ผู้ผลิต เกษตรกร และการจ้างงานของธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน แต่โอกาสจะมากน้อยแค่ไหนยังต้องขึ้นกับจำนวนร้านค้าปลีกที่เข้าร่วมโครงการ การกระจายตัวในพื้นที่ต่างๆ และเวลาเปิด-ปิดกิจการ เป็นต้น

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายมาตรการ “คนละครึ่ง" พบว่ากว่า 64% ของผู้ตอบแบบสำรวจ วางแผนจะใช้จ่ายเต็มวงเงิน 3,000 บาท และอีก 36% วางแผนจะใช้จ่ายบางส่วน โดยสินค้าที่ซื้อส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ของใช้ส่วนบุคคล อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่กว่า 56% ของผู้ตอบแบบสำรวจ จะยังคงใช้จ่ายใกล้เคียงกับเดิมที่ไม่มีมาตรการฯ แต่ผลจากมาตรการฯ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคได้ ขณะที่ผู้บริโภคอีก 44% วางแผนจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ไม่มีมาตรการฯ โดยอาจเลื่อนวันในการซื้อสินค้าให้ตรงกับช่วงที่ออกมาตรการฯ

             ​ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มาตรการ “คนละครึ่ง" จะช่วยหนุนค้าปลีกในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 ได้ในระดับหนึ่ง และทำให้ยอดค้าปลีกหดตัวลดลงเล็กน้อยเหลือ 7.2% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะหดตัว 8.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยรายได้ดังกล่าวจะกระจายไปยังร้านค้าปลีกดั้งเดิมที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งทางร้านต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องสต็อกสินค้า ความสดใหม่และคุณภาพสินค้า รวมถึงอาจทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นผู้บริโภค ทั้งนี้ แรงส่งจากมาตรการฯ ดังกล่าว น่าจะทำให้ธุรกิจค้าปลีกทั้งปี 2563 หดตัวราว 6.0% จากปีก่อน





                                                                                                                                                                                                               ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest