Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 มิถุนายน 2564

Econ Digest

ปลดล็อก....กัญชง เปิดโอกาส อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

คะแนนเฉลี่ย

การอนุญาตให้นำกัญชงมาใช้ประโยชน์เพื่อการพาณิชย์ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมปลายน้ำต่างตอบรับการปลดล็อคดังกล่าว และเร่งวางแผนการใช้ประโยชน์และพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มจากกัญชง โดยเฉพาะตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่เริ่มมีการนำส่วนของกัญชงที่อนุญาตให้เอกชนนำมาใช้ผสมในอาหารเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขายสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่มองหาสินค้าแปลกใหม่ อย่างคุกกี้ ไอศกรีม และชากัญชง โดยจะต้องได้รับใบอนุญาตและกำกับดูแลจากหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ดี คาดว่าอุตสาหกรรมปลายน้ำจะสามารถเริ่มนำมาใช้ประโยชน์ในวงกว้างได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมปลายน้ำจากกัญชงที่น่าจับตามอง จากกระแสความนิยมของตลาด Functional Drinks ที่ในปี 2564 อาจเติบโตได้ดีกว่าภาพรวมตลาด ตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพและความต้องการเครื่องดื่มที่ตอบความต้องการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มผสมวิตามิน เครื่องดื่มผสมสารสกัดจากธรรมชาติ ทำให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มเล็งเห็นโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ CBD-infused drinks ซึ่งนำสารสกัดจาก CBD ที่มีสรรพคุณหลากหลาย เช่น บรรเทาอาการนอนไม่หลับ ผ่อนคลายความกังวล มาใช้ผสมในเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ น้ำสมุนไพร น้ำผลไม้ โดยเครื่องดื่มกลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในตลาดโลก ซึ่งมีตลาดหลักอยู่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร และจีน เป็นต้น



ในระยะแรกผู้ประกอบการจะเริ่มสร้างการรับรู้ในตลาด เช่น การออกเครื่องดื่มแต่งกลิ่นสารสกัด หรือเครื่องดื่มที่มีคุณสมบัติคล้ายกับสาร CBD ที่ทำให้ผ่อนคลาย อย่างไรก็ดี หากสามารถนำ CBD จากกัญชงมาใช้ได้ในวงกว้างมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ผสมสารสกัด CBD จากกัญชง ในปี 2565 ที่สินค้าน่าจะเริ่มออกสู่ตลาด จะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท และในปี 2569 คาดว่าจะเติบโตไปอยู่ที่ประมาณ 2,500 ล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ยที่ 5.7% (CAGR) ในช่วงปี 2565-2569 ทั้งนี้ น่าจะได้เห็นการขยายตัวอย่างมากในปี 2569 ซึ่งเป็นกรอบเวลาเบื้องต้นที่อาจเปิดให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบหรือสารสกัดกัญชงจากต่างประเทศได้ นำไปสู่การเปิดกว้างในการจัดหาวัตถุดิบที่เพียงพอ และอาจดึงดูดให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มจาก
กัญชงเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ อนาคตของเครื่องดื่มตัวใหม่นี้ ยังคงขึ้นอยู่กับการตอบรับของตลาด ซึ่งมูลค่าตลาดข้างต้นเป็นเพียงประมาณการเบื้องต้น ยังคงจำเป็นต้องติดตามประเมินสถานการณ์ในระยะข้างหน้าต่อไป
ผู้ประกอบการเครื่องดื่มส่วนใหญ่น่าจะใช้ประโยชน์ จากการที่ภาครัฐเริ่มส่งเสริมให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ในการออกผลิตภัณฑ์กัญชงเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคซึ่งอาจช่วยกระตุ้นยอดขายได้ในระยะแรก แต่การทำตลาดต่อเนื่องในระยะยาวนั้นยังขึ้นกับอีกหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา อาทิ การพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นไปตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหารฯ ซึ่งกำหนดให้มีปริมาณ CBD ไม่เกิน 3.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความเพียงพอของวัตถุดิบในระยะเริ่มต้น รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบที่ปัจจุบันราคาน้ำมันสกัด CBD อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อกิโลกรัม และอาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงแรกที่ยังมีอุปทาน CBD ในตลาดน้อย ซึ่งจะเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการในการบริหารจัดการต้นทุนให้เครื่องดื่มกัญชงมีราคาที่สามารถแข่งขันได้กับเครื่องดื่มประเภทอื่น และกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภคได้ภายใต้ปัจจัยกดดันด้านกำลังซื้อที่อาจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest