Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 ตุลาคม 2565

Econ Digest

ไตรมาส 2/65 ครัวเรือนชะลอก่อหนี้ก้อนใหญ่...สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ปรับลดลงมาอยู่ที่ 88.2%

คะแนนเฉลี่ย

​ในไตรมาส 2/65 แม้ยอดคงค้างเงินกู้ยืมของครัวเรือนไทยจะขยับขึ้นสู่ระดับ 14.76 ล้านล้านบาท แต่ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีกลับปรับตัวลงมาที่ระดับ 88.2% จาก 89.2% ต่อจีดีพีในไตรมาสก่อน  ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 64  หนี้ครัวเรือนเติบโตเพียง 3.5% YoY  ต่ำสุดในรอบ 18 ปี  และชะลอลงเมื่อเทียบกับ 3.7% YoY ในไตรมาส1/65  ทั้งนี้ หากมองในเชิงโครงสร้าง หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในรูปหนี้บ้านและหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ โดยมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 53% ของหนี้ครัวเรือนในภาพรวม  ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าหนี้รายย่อยก้อนใหญ่หรือมีวงเงินกู้ต่อรายที่ค่อนข้างสูงอย่างเช่นหนี้บ้าน หนี้เพื่อประกอบอาชีพและหนี้เช่าซื้อรถยนต์ ต่างมีอัตราการเติบโตที่ช้าลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจสะท้อนว่าครัวเรือนเพิ่มความระมัดระวังในการก่อหนี้ใหม่ก้อนใหญ่ท่ามกลางในความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและรายได้ของครัวเรือน หรืออาจมองได้ว่าครัวเรือนมีภาระหนี้เดิมอยู่ในระดับสูงและเริ่มมีข้อจำกัดในการก่อหนี้ใหม่ เนื่องจากฐานะทางการเงินมีสัญญาณอ่อนแอลง  ในขณะที่ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนกลับมีหนี้สินในรูปบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกันเพิ่มขึ้น สะท้อนว่ามีครัวเรือนจำนวนมากกู้ยืมผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อดังกล่าวเพื่อเสริมสภาพคล่องและแก้ไขปัญหาการเงินในระยะสั้น


จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับภาวะหนี้สินของภาคประชาชนพบว่า ครัวเรือนเกือบทุกกลุ่มมีภาระหนี้สินอยู่ในระดับที่สูงกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน โดยมีค่าเฉลี่ย DSR อยู่ที่ 33.9% ซึ่งอาจมีนัยว่าครัวเรือนบางส่วนกำลังเริ่มมีข้อจำกัดหรือต้องปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อให้สามารถก่อหนี้ก้อนใหญ่ก้อนใหม่ได้ โดยไม่เบียดบังในส่วนที่ควรเก็บสะสมเพื่อเป็นเงินออมในอนาคต สำหรับแนวโน้มปี 65 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับทบทวนตัวเลขประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ลงมาที่กรอบ 85.0-87.0% ชะลอลงเมื่อเทียบกับสัดส่วน 90.1% ต่อจีดีพีในปี 64 เนื่องจากมูลค่าจีดีพี (Nominal GDP) เติบโตสูงตามภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับครัวเรือนหลายๆ ส่วนระมัดระวังการก่อหนี้ก้อนใหม่ ทั้งนี้ แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 65 นี้อาจจะชะลอลง  แต่ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงอย่างบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้น รวมถึงยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในภาพรวมที่ยังคงทยอยเติบโตต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะสะท้อนข้อจำกัดในการบริโภคของภาคเอกชนแล้ว ยังสะท้อนความเปราะบางของฐานะทางการเงินของประชาชนและครัวเรือนรายย่อยในยุคที่อัตราดอกเบี้ยของไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่จังหวะขาขึ้นด้วยเช่นกัน

 


Click
 ชมคลิป Q2/65 หนี้ครัวเรือนชะลอลงที่ 88.2% ต่อจีดีพีชะลอก่อหนี้ก้อนใหญ่ แต่ยังใช้บัตรเครดิต

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น