Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 กรกฎาคม 2564

Econ Digest

โควิดระลอก 3 กดดันสถานะการเงินถดถอย

คะแนนเฉลี่ย
ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 1/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปีตามสถิติของธปท. โดยหนี้ครัวเรือนที่ขยับขึ้นนี้มาจาก 3 กลุ่ม คือ หนี้บ้าน หนี้ประกอบอาชีพ และหนี้เพื่อใช้จ่ายชีวิตประจำวัน

จากผลสำรวจภาวะหนี้สินของประชาชนโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า สถานการณ์รายได้และหนี้สินของประชาชนถดถอยลงมากจากผลของโควิด-19 ระลอกสาม ลูกหนี้เป็นห่วงปัญหาหนี้สินของตัวเองมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามในเดือนมิ.ย. 2564 ส่วนใหญ่ราว 79.5% มองว่าปัญหาหนี้ของตัวเองไม่น่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2564 ซึ่งสัดส่วนของผู้ที่ “มองว่าปัญหาหนี้จะแย่ลง” เพิ่มขึ้นมาที่ 26.6% เทียบกับ 7.8% ในผลสำรวจเดือนมี.ค. 2564 และหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางทางการเงินที่เผชิญแรงกดดัน 3 ด้านพร้อมกัน ทั้ง “รายได้ลด-ค่าใช้จ่ายไม่ลด-สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูงกว่า 50% ของรายได้ต่อเดือน” จะพบว่า สัดส่วนของกลุ่มเปราะบางในผลสำรวจเดือนมิ.ย. 2564 ขยับขึ้นมาที่ 22.1% เทียบกับ 10.8% ในผลสำรวจเดือนมี.ค. 2564 ตอกย้ำถึงปัญหาหนี้สินของประชาชนที่มีความน่ากังวลมากขึ้นในระดับครัวเรือน

สำหรับแนวโน้มปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับทบทวนตัวเลขประมาณการหนี้ครัวเรือนไทยขึ้นมาอยู่ที่ 90-92% ต่อจีดีพี แม้ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนโตสวนทางเศรษฐกิจเป็นภาวะที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ไม่มีปัญหาโควิด-19 หนี้ครัวเรือนก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างลำดับต้นของไทยที่รอการแก้ไข ซึ่งในปีนี้น่าจะเห็นการเดินหน้ามาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้ และ/หรือทบทวนเพดานดอกเบี้ยผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ตลอดจนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงการวางแนวทางระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สินของภาคครัวเรือนอย่างจริงจังเมื่อโควิด-19 สิ้นสุดลง โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพการหารายได้ และดูแลให้การก่อหนี้ภาคประชาชนสอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองมากขึ้น



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest