Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 กันยายน 2567

Econ Digest

เงินเฟ้อเดือนส.ค. 2567 ต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ 0.35% YoY มองเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2567 ลดลงมาอยู่ที่ 0.5%

คะแนนเฉลี่ย

      อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนส.ค. 2567 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 0.35% YoY ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเป็นบวกเล็กน้อยที่ 0.07% MoM โดยมีปัจจัยสำคัญมาจาก

  • ราคาหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ฯ/ บาร์เรล ขณะที่ฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในเดือนส.ค. 2566 อยู่ระดับสูงที่ราว 85 ดอลลาร์ฯ/ บาร์เรล
  • ราคาหมวดค่าไฟฟ้าปรับลดลง เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้ามีการตรึงที่ 4.18 บาท/ หน่วยอย่างต่อเนื่องในเดือนพ.ค.-ส.ค. 2567 ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 4.70 บาท/ หน่วย ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อเดือนส.ค. 2567 ลดลง 0.19% YoY (รูปที่ 1)
  • อย่างไรก็ดี จาก 430 รายการสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อ มี 273 รายการที่ราคายังคงปรับสูงขึ้น โดยปัจจัยผลักดันหลักมาจากราคาผักสดผลไม้สด ข้าวสาร และอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนักและอุทกภัยในบางพื้นที่เพาะปลูกได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรบางส่วน
  • ขณะที่ หากหักราคาอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนส.ค. 2567 เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.62% YoY จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 0.52% YoY

      ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยออกมาต่ำกว่าคาดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.15% YoY ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2567 ลงมาอยู่ที่ 0.5% จากประมาณการเดิมที่ 0.8% อย่างไรก็ดี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะเร่งสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาส 4/2567 (รูปที่ 2) เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงไตรมาส 4/2566 ตามฐานอัตราค่าไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจากทางภาครัฐ ประกอบกับคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่เป็นช่วง High Season อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ภาครัฐมีแนวโน้มที่จะยังคงตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและอัตราค่าไฟฟ้าที่ระดับเดิมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาดจากแรงกดดันอุปสงค์โลกที่ชะลอลง แม้ยังคงมีความเสี่ยงด้านสูงอยู่จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์รวมถึงปริมาณการผลิตของ OPEC+ นอกจากนี้ ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงและการแข่งขันที่อยู่ในระดับสูง ผู้ประกอบการมีแนวโน้มออกมาตรการส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าหลายรายการมีแนวโน้มปรับลดลง

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น