แมลงกำลังได้รับความสนใจในฐานะแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับการเลี้ยงสัตว์แบบดั้งเดิม โดยคาดการณ์ว่าตลาดแมลงกินได้จะเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 25.1% ระหว่างปี 2025 – 2030 โดยได้รับความนิยมในการแปรรูปเป็น โปรตีนผง (Powder) โปรตีนอัดแท่ง (Protein Bar) และบดผสมเป็นอาหารสัตว์
ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดแมลงกินได้ของโลก (มูลค่าการส่งออกอันดับ 6 ของโลก) ถึงแม้มูลค่าส่งออกยังไม่มาก แต่ในอนาคตด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่นในการเพาะเลี้ยง การจับ รวมถึงตลาดการบริโภคภายในประเทศจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการเติบโต ซึ่งอาจทำกำไรได้สูงถึง 260,000 บาท/ปี และในอนาคตเทรนด์รักษ์โลก แนวโน้มอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะมีส่วนช่วยให้ไทยมีศักยภาพสูงขึ้นในการแข่งขันในตลาดแมลงกินได้
โอกาสประเทศไทยต่อการพัฒนาตลาดแมลงกินได้
1. องค์ความรู้การเพาะเลี้ยง และตลาดในประเทศรองรับ
ประเทศไทยมีองค์ความรู้พื้นบ้านในการจับ เลี้ยง และปรุงแมลงเพื่อบริโภคหลากหลายชนิด เช่น จิ้งหรีด ดักแด้ แมงดา โดยสามารถผลิตแมลงเศรษฐกิจได้มากกว่า 7,000 ตันต่อปี ปัจจุบันตลาดภายในประเทศให้การตอบรับที่ดีต่อแมลงกินได้ โดยมีการแปรรูป และจำหน่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ทั้งในตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร ทำให้การเลี้ยงแมลงมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและสามารถพัฒนาให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนในระดับครัวเรือนได้
2. ตัวเลือกที่ยั่งยืน ประหยัดทรัพยากร ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก
ภาคปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 7.1 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2eq) ต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 14.5% ของก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั้งหมด ทำให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเริ่มมีการหันเหไปบริโภคโปรตีนจากแมลงทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมเพิ่มขึ้น
การผลิตโปรตีนจากแมลง 1 กิโลกรัม มีการปล่อย GHG เพียง 1 กิโลกรัม CO2eq น้อยกว่าการทำปศุสัตว์ดั้งเดิม 27 – 40 เท่า เมื่อเทียบกับปริมาณโปรตีนที่ได้รับจากปศุสัตว์ในจำนวนที่เท่ากัน (รูปที่ 1) อีกทั้ง การทำฟาร์มแมลงกินได้สามารถเลี้ยงในพื้นที่จำกัด ใช้น้ำ และปริมาณอาหารน้อยกว่าปศุสัตว์อื่น เช่น วัว หมู ไก่ 5 -13 เท่า ทำให้หากเทียบเป็นปริมาณโปรตีนที่ได้รับเท่ากัน การทำฟาร์มแมลงจะเป็นทางเลือกที่ต้นทุนทรัพยากรต่ำที่สุด และมีความยั่งยืนกว่ามาก
3. อากาศร้อน และแนวโน้มอุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผลให้การเพาะเลี้ยงแมลงยิ่งได้เปรียบ
ในอนาคต แมลงอาจเป็นแหล่งโปรตีนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากสามารถเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ซึ่งขณะที่ปศุสัตว์ต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลกระทบอย่างมากต่อปศุสัตว์ เช่น วัว หมู ไก่ โดยจะลดอัตราการเจริญเติบโต เพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียและปรสิต และลดการให้ผลผลิต เช่น เนื้อไก่ และนมวัว สูงถึง 38% ขณะที่ แมลงมีความสามารถในการปรับตัวต่ออุณหภูมิสูงได้ดีกว่า และอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจช่วยให้แมลงบางชนิดเติบโตเร็วขึ้น ทำให้สามารถผลิตโปรตีนจากแมลงได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอาจส่งผลเสียต่อการเติบโต และความหลากหลายของ
สายพันธุ์แมลงบางชนิดได้เช่นกัน เช่น ผึ้ง ผีเสื้อ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในระยะยาว ดังนั้น การหลีกเลี่ยงต้นเหตุของผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเป็นสิ่งจำเป็น
ตอนนี้ตลาดค้าแมลงของโลกเป็นอย่างไร?
ตลาดแมลงกินได้ในตลาดโลกในปี 2024 มีมูลค่า 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการผลิตและบริโภคแมลงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดแมลงกินได้จะเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 25.1% ระหว่างปี 2025 – 2030 โดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา และเอเชียตะวันออก ซึ่งมีการใช้แมลงเป็นแหล่งโปรตีนสำหรับทั้งมนุษย์ ในรูปแบบโปรตีนผง (Powder) โปรตีนอัดแท่ง (Protein Bar) และบดผสมเป็นอาหารสัตว์
สำหรับประเทศไทยมีการส่งออกแมลงใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก โดยคิดเป็น 6% ของมูลค่า
การส่งออกทั้งหมดของโลก หรือ 5.86 แสนดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นหลัก ทั้งนี้ ผู้เล่นหลักในตลาดแมลงกินได้ของโลก ได้แก่ สเปน จีน และออสเตรเลีย โดยมีสัดส่วนการส่งออกรวมราว 2 ใน 3
ความท้าทาย
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตแมลงรายใหญ่ และมีแมลงกินได้ที่มีโปรตีนสูงหลายชนิดสามารถเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้ เช่น จิ้งหรีด หนอนไม้ไผ่ แมงมัน ดักแด้ไหม หนอนนก ถึงแม้ปัจจุบัน มูลค่าการส่งออกแมลงยังคงมีมูลค่าไม่มาก แต่ในอนาคตด้วยกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และแนวโน้มอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น อาจเป็นส่วนช่วยให้ตลาดแมลงกินได้ไทยขยายตัวได้มากยิ่งขึ้น
การยอมรับของผู้บริโภคยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากความรู้สึกไม่คุ้นเคยและความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร อีกทั้งยังคงต้องติดตามผลกระทบด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น หรือที่อาจเปลี่ยนไปในกรณีการผลิตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศแตกต่างกัน
นอกจากนี้ การขึ้นเป็นผู้นำในตลาดแมลงกินได้ของโลก อาจจะต้องแข่งขันกับผู้นำตลาดแมลงกินได้ ได้แก่ สเปน จีน และออสเตรเลีย ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกรวมกันประมาณ 64% และมีจุดแข็งจากการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งไทยอาจนำมาเป็นแนวทางพัฒนา (ภาคผนวก ตารางที่ 1)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แมลงมีแนวโน้มได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตในอนาคต เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้แมลงสามารถเลี้ยงได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่าปศุสัตว์โดยเปรียบเทียบ ทั้งนี้ ต้นทุนการลงทุนเบื้องต้นของฟาร์มขนาดพื้นฐานในการเลี้ยงแมลง เช่น จิ้งหรีด อยู่ในระดับไม่สูงมากนัก เพียงประมาณ 45,000 – 75,000 บาท สามารถสร้างกำไรจากการจำหน่ายแมลงสด 9,600 – 37,000 บาท/ปี และหากสามารถแปรรูปเป็นแป้งแมลงจะทำให้กำไรสูงขึ้นเป็น 260,000 บาท/ปี
นอกจากนี้ หากพิจารณาปัจจัยด้านการใช้พื้นที่เลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงแมลงจะทำกำไรต่อตารางเมตรได้สูงถึง 9,300 บาท/ตร.ม. ขณะที่ปศุสัตว์อื่น เช่น ไก่เนื้อ และโคนม สามารถทำกำไรได้ราว 1,500 บาท/ตร.ม.
ด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น องค์ความรู้ ภูมิอากาศ เทรนด์โลก ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูงทั้งด้านการผลิตและส่งออกแมลง ซึ่งหากได้รับการผลักดัน และส่งเสริมการบริโภคแมลงในประเทศควบคู่กับการสนับสนุนจากภาครัฐ อาจช่วยสร้างรายได้มหาศาลและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว จึงอาจเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืนของไทยและของโลกในอนาคต
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น