Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 มีนาคม 2565

Econ Digest

ธุรกิจประกันชีวิต ปี 65 ลุ้นฟื้นตัว ตามเงื่อนไขเศรษฐกิจ...ปรับตัวรับมาตรฐานบัญชีใหม่

คะแนนเฉลี่ย

​ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตปี 2564 กลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยหลังจากที่หดตัวลงต่อเนื่อง 2 ปี โดยเป็นการเติบโตจากการผลักดันยอดขายกรมธรรม์รายใหม่ โดยเฉพาะประเภทจ่ายครั้งเดียว ขณะที่เบี้ยปีต่ออายุไม่โต ทั้งนี้ แม้ว่าปี 2565 ภาพรวมธุรกิจประกันยังอยู่ในช่วงปรับฐานต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากมีกรมธรรม์ที่ครบกำหนดชำระเบี้ยแต่ยังมีความคุ้มครองจำนวนมาก แต่ก็มีโอกาสที่กำลังซื้อรายใหม่จะเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจไทยสามารถโตได้ 3.5%-4.5% ตามที่ สศช. ประเมินไว้ แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อและการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่อาจกระทบต่ออำนาจซื้อทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า บริษัทประกันคงต้องพยายามรักษาอัตราการเติบโตในปี 2565 ให้ต่อเนื่องจากปี 2564 ซึ่งหมายถึงต้องเร่งยอดขายเบี้ยใหม่ให้โตไม่น้อยกว่า 7%


อย่างไรก็ดี ในช่วงรอยต่อก่อนเข้าสู่มาตรฐานบัญชีใหม่ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 คงเป็นประเด็นที่ท้าทายความสามารถในการปรับโครงสร้างผลิตภัณฑ์หลักให้เป็นที่ยอมรับ โดยระหว่างปี 2565-2566 คงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่น่าจะได้เห็นการพัฒนาและส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ประกันที่เน้นความคุ้มครองมากขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประเภทสะสมทรัพย์คงมีทิศทางลดลง และถูกปรับเปลี่ยนเป็นแบบที่มีส่วนร่วมในเงินปันผล หรือแบบประกันควบการลงทุนทั้งแบบยูนิตลิงค์และยูนิเวอร์แซลไลฟ์มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้เข้าถึงและเพิ่มโอกาสการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เพื่อชดเชยกับขนาดเบี้ยต่อกรมธรรม์ที่มีทิศทางลดลงกว่าเดิม  


ทั้งนี้ กระแสความต้องการซื้อประกันสุขภาพยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภายใต้ข้อจำกัดด้านบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ ทำให้การซื้อประกันสุขภาพมีแนวโน้มเป็นความจำเป็นพื้นฐานเพื่อรองรับกรณีการเจ็บป่วยรุนแรง นอกจากนี้ การปรับปรุงสัญญามาตรฐานของสัญญาประกันสุขภาพ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2565 ยังเป็นผลดีกับผู้ซื้อประกัน ที่สามารถเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างสัญญาของแต่ละบริษัทได้สะดวกขึ้น และมีทางเลือกในการซื้อความคุ้มครองที่ไม่ซ้ำซ้อนกับที่มีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อบริษัทประกันในการขยายฐานลูกค้าและช่วยให้มีการกระจายความเสี่ยงการรับประกันได้ดีขึ้น

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest