ดัชนี KR-ECI ในเดือนต.ค.66 และดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 38.5 และ 41.0 แต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนช่วงโควิด-19 โดยความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐโดยเฉพาะการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายได้ลดความกังวลในด้านราคาสินค้าและค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ของครัวเรือนในปัจจุบัน แต่ระยะข้างหน้าครัวเรือนมีมุมมองเกี่ยวกับด้านค่าใช้จ่ายที่ทรงตัว ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังมีความไม่ชัดเจนมากนัก
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสอบถามครัวเรือนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนในช่วงไตรมาสที่ 4/2566 พบว่า ครัวเรือนคาดการณ์ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการสังสรรค์และท่องเที่ยวมากที่สุด (32.2%) เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและมีวันหยุดยาวในช่วงเดือนธ.ค.66 รองลงมาครัวเรือนคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวันมากที่สุด ได้แก่ ค่าอาหาร และค่าสาธารณูปโภค
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ดัชนี KR-ECI ยังคงมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่จะมีผลไปจนถึงสิ้นปี 2566 เป็นอย่างน้อย ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยซึ่งมีภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ รวมถึงภาคส่งออกที่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น แต่การฟื้นตัวของดัชนีฯ อาจมีหลายปัจจัยเข้ามากดดัน เช่น ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจผันผวนมากขึ้น รวมถึงความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐที่ยังต้องติดตาม
|
Click ชมคลิป ดัชนี KR-ECI ในเดือน ต.ค. 66 ปรับตัวดีขึ้น จากความต่อเนื่องของมาตรการรัฐ |
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น