Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 มีนาคม 2564

Econ Digest

ไขรหัส...ผลตอบแทน % ประกันชีวิตสะสมทรัพย์

คะแนนเฉลี่ย



           ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแต่ละตัว จะกำหนดเงื่อนไขการส่งเบี้ย การให้ผลตอบแทน การเคลมสินไหม และเงินคืนเมื่อครบสัญญา ไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่วันแรกซื้อ ซึ่งสูตรที่ใช้คำนวณส่วนหนึ่งถูกกำหนดโดย คปภ. อาทิ อัตรามรณะไทย และพิกัดอัตราเบี้ยประกัน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนการบริหารจัดการรายได้และค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัทซึ่งมีตัวแปรหลักคือ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ลงทุนของบริษัท ดังนั้น กล่าวได้ว่าบรรทัดฐานการออกแบบประกันแต่ละตัวจะอยู่บนมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ในแบบประกันประเภทเดียวกัน จะให้ความคุ้มครองที่ไม่แตกต่างกัน แต่ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดที่มุ่งสร้างความแตกต่างและโดดเด่นเหนือคู่แข่ง จึงเป็นที่มาของการสร้างเสริมเติมแต่งลวดลายของผลิตภัณฑ์ที่อาจมีรายละเอียดมากมายและยากต่อการเปรียบเทียบจากมุมมองของผู้บริโภค
ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มักเป็นแบบประกันที่มีการใช้กลยุทธ์สร้างภาพลักษณ์เพื่อดึงดูดการตัดสินใจของผู้บริโภค จากความสำคัญในฐานะสินค้าตัวธงที่มียอดเบี้ยประกันรับรวมในปี 2563 ที่ผ่านมา สูงถึง 2.88 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 48% ของเบี้ยรับรวมทั้งสิ้นในธุรกิจประกันชีวิต โดยข้อมูลสรุปจุดเด่นของแบบประกัน ได้มุ่งเสนอ “ผลประโยชน์” “เงินคืน” “ความคุ้มครอง” ด้วยเลข 2-3 หลัก แม้ว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยจะลดต่ำลงมาอยู่ที่เฉลี่ยไม่ถึง 1% ต่อปีก็ตาม   



             แบบประกันประเภทสะสมทรัพย์ปัจจุบัน ไม่มีบริษัทใดให้ผลตอบแทนแท้จริง (IRR) ที่สูงกว่า 3% ไม่ว่าเงื่อนไขการจ่ายของแบบประกันนั้นจะระบุตัวเลขที่สูงเพียงใดก็ตาม ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัทประกันที่ปรับตัวลดลงตามภาวะตลาด อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคที่ซื้อประกันชีวิตระยะ 10 ปีขึ้นไป ยังได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี และประกันบำนาญไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี (รวมกับกองทุนการออมอื่นต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี) ซึ่งอาจถือเป็นอัตราผลตอบแทนเพิ่มเติมได้ตามขั้นภาษีของตน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประกันชีวิตประเภทสะสมทรัพย์ ณ เวลานี้ ผลตอบแทนไม่มาก ขณะที่ผู้ซื้อต้องแน่ใจว่ามีความสามารถในการส่งเบี้ยตลอดสัญญา ดังนั้นหากเงื่อนไขดังกล่าวไม่เหมาะกับตนเอง ยังมีทางเลือกในการซื้อประกันที่เน้นความคุ้มครองเพื่อเป็นหลักประกันระยะยาวให้ครอบครัว เพราะความไม่แน่นอนนั้นแน่นอน ซึ่งผลิตภัณฑ์ประกันน่าจะตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ดีที่สุด


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest