Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 กรกฎาคม 2564

Econ Digest

เมื่อ...ธุรกิจขาดเงิน จะไปต่ออย่างไรดี?

คะแนนเฉลี่ย
​​
โควิด-19 ระลอกใหม่ เป็นฝันร้ายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยหลายล้านราย และการล็อคดาวน์ทำให้สถานการณ์ค้าขายของผู้ประกอบการยากขึ้นไปอีก 
อันที่จริงแล้ว ในปัจจุบัน ภาครัฐและสถาบันการเงินต่างก็มีมาตรการช่วยเหลือทางการเงินออกมาหลากหลายโครงการ แต่หากธุรกิจเอสเอ็มอีพิจารณาแล้ว ยังเห็นภาพไม่ชัดเจนว่าจะไปต่ออย่างไร ก็อาจกลับมาตั้งหลักพิจารณาไปที่ละข้อว่าเราเดินมาถูกทางแล้วหรือยัง ดังนี้
เมื่อธุรกิจขาดเงิน เราควรเริ่มจากการประเมินเหตุผลของเงินใหม่ที่ต้องการ ว่าจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด โดย
1) ถ้ากู้เพื่อชำระหนี้เดิมกับสถาบันการเงิน >> ควรคุยกับเจ้าหนี้ปัจจุบันก่อนว่า สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อให้ยอดชำระในแต่ละเดือน เบาลงจนอยู่ในวิสัยที่สามารถผ่อนชำระได้หรือไม่ และเพียงใด จากนั้น ค่อยไปคุยต่อในเรื่องความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อชำระคืนหนี้เดิม ขณะที่ หากมีเจ้าหนี้หลายราย สามารถติดต่อ​เข้าโครงการ “DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง” (โครงการดีอาร์บิส) ที่มีหลายวิธีแก้ไขหนี้ เช่น การขยายเวลาชำระหนี้ การลดค่างวด รวมทั้งอาจมีการพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่ลูกหนี้ที่มีแผนธุรกิจชัดเจน มีประวัติการชำระหนี้ดี เป็นต้น
2) ถ้ากู้เพื่อชำระหนี้การค้าหรือจ่ายค่าแรงให้พนักงาน >> ควรปรึกษาสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ซึ่งสิ่งที่ต้องเตรียมไว้คือ สินเชื่อเดิมที่ผ่อนชำระไว้ ยังพอมีหลักประกันส่วนเกินหรือไม่และเพียงใด และมีหลักประกันใหม่เพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อเป็นตัวช่วยให้สถาบันการเงินพิจารณาการเสริมสภาพคล่องได้ง่ายขึ้น เนื่องจากในภาวะที่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่ยังสูงเช่นนี้ การพึ่งการประเมินแนวโน้มกระแสเงินสดรับ (Cash Flow) แต่เพียงลำพัง...จะมีน้ำหนักลดลง
3) ถ้ากู้เพื่อไปประกอบธุรกิจ >> จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องประเมินโอกาสและความสำเร็จทางธุรกิจให้ดี เพราะจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ในปัจจุบัน หากตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลงภายในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ ก็จะมีผลเปลี่ยนภาพเศรษฐกิจให้ลบมากขึ้นอีก และความไม่แน่นอนทางธุรกิจจะลากยาวไปสู่ปีหน้า นั่นหมายความว่าธุรกิจจำเป็นต้องประมาณการกระแสเงินสดรับในอีก 1 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย ว่าได้คุ้มเสียหรือไม่ และควรเดินเรื่องเพื่อกู้เพิ่มเติมจริงหรือไม่
อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับธุรกิจยังพอดำเนินต่อไปได้...สามารถนำลูกหนี้การค้า มาขอสินเชื่อ Factoring (โดยการนำหลักฐานลูกหนี้การค้ามาขายลดกับผู้ประกอบการ Factoring) เพื่อสภาพคล่องไปใช้หมุนเวียนเพื่อทำธุรกิจต่อได้ โดยที่อาจยังไม่ต้องข้ามขั้นไปขอวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพียงแต่การขอสินเชื่อ Factoring ดังกล่าว ควรติดต่อกับสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบการที่มีประวัติน่าเชื่อถือเป็นสำคัญ 
แต่สุดท้ายคิดดีแล้วและยังต้องการกู้เงิน...อีกทั้งตรวจสอบตนเองแล้ว พบว่า กิจการยังไม่เป็นเอ็นพีแอล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และมีทรัพย์ที่พอจะใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินได้ในมือ สามารถขอเข้าโครงการสินเชื่อฟื้นฟูได้ หรือแม้จะไม่เคยเป็นลูกค้าสินเชื่อสถาบันการเงินมาก่อน ก็ขอเข้าโครงการสินเชื่อฟื้นฟูได้เช่นกัน โดยติดต่อผ่านสถาบันการเงินที่ทำธุรกรรมด้วย ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่ามีเงื่อนไขการพิจารณากลางที่เป็นมาตรฐาน ไม่ถูกเอาเปรียบจากเจ้าหนี้ 
ส่วนการขายฝากทรัพย์ เพื่อลดภาระหนี้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน และเผื่อมีสภาพคล่องส่วนเกินไปใช้เป็นทุนหมุนธุรกิจ อีกทั้งมีโอกาสในการซื้อทรัพย์ตนเองคืนในอนาคตนั้น ทางเลือกจะเป็นโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งสามารถดำเนินการการขอโครงการสินเชื่อฟื้นฟูฯ ควบคู่กันไป ขณะที่ หากประสบปัญหาในการเข้าโครงการ สามารถติดต่อสถาบันการเงินโดยตรง หรือผ่านหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อการชี้แจงและหาทางออกให้เป็นรายกรณีไป
ส่วน “ข้อห้าม” ในยามต้องการเงินด่วนๆ คือ ไม่ควรใช้สินเชื่อดอกเบี้ยแพงอย่างเช่นสินเชื่อบุคคลที่มีเพดานดอกเบี้ยสูงถึง 25% หรือสินเชื่อบัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ยที่ 16% มาเป็นเงินหมุนสำหรับธุรกิจ เพราะมีแต่จะทำให้ปัญหาหนี้พอกพูนอย่างรวดเร็ว 
ดังนั้น ติดปัญหา...ให้หันหน้าคุยกับสถาบันการเงินโดยเร็ว เพื่อหาทางออกร่วมกัน


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest