Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 พฤษภาคม 2563

Econ Digest

คาด... กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยคู่นโยบายเพิ่มสภาพคล่อง ช่วยธุรกิจประคองตัวฝ่าวิกฤติ

คะแนนเฉลี่ย
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในการประชุม กนง. วันที่ 20 พ.ค. นี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากปัจจุบันที่ 0.75% มาอยู่ที่ 0.50% ตามภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญความเสี่ยงมากขึ้น 
​          จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2563 หดตัวที่ 1.8% YoY และมีแนวโน้มที่จะหดตัวในอัตราที่เร่งขึ้นในไตรมาส 2/2563 ขณะที่ทั้งปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวราว 5.0% ดังนั้น กนง. น่าจะให้น้ำหนักกับเป้าหมายด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ควบคู่กับการดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องอื่น ๆ  นอกจากนี้ ท่ามกลางแรงกดดันจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแรงลง ประกอบกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้คาดว่าเงินเฟ้อของไทยในปีนี้น่าจะหดตัวที่ 0.5% ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้ กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ รวมถึงอาจจะมีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป
           ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากในการประชุมครั้งนี้ กนง. มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.5% ตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีผลกระทบเพิ่มเติมจากการแพร่ระบาดของโรค และภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่เริ่มมีทิศทางที่ควบคุมได้ และไม่มีการระบาดซ้ำ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวต่ำสุดในไตรมาส 2 และฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563 น่าจะพลิกกลับมาเป็นบวก ส่งผลให้ กนง. อาจจะยังไม่มีความจำเป็นที่จะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามทิศทางนโยบายการเงินและดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก โดย ธปท. คงจะต้องคอยประเมินสถานการณ์ และชั่งน้ำหนักความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ในการพิจารณานโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยยังมีทางเลือกในการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เหนือความคาดหมายหากมีความจำเป็น เช่นเดียวกับธนาคารกลางหลักอื่น ๆ 


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest