Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 พฤศจิกายน 2565

Econ Digest

MEGA PROJECTS ดันมูลค่าก่อสร้างภาครัฐ ปี 66 ขยายตัว

คะแนนเฉลี่ย

​   การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยยกระดับการพัฒนา และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยคาดว่ามูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ ในช่วงที่เหลือของปี 2565 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 จะขยายตัวจากในช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากการหยุดชะงักและล่าช้าไปในช่วงสถานการณ์โควิด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมูลค่าการก่อสร้างภาครัฐในปี 2566 จะอยู่ที่ราว 8.4 - 8.5 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 2.5-3.5% จากฐานที่ต่ำในปี 2565 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7% ซึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญของปี 2566 ยังมาจากโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega projects) โดยแบ่งเป็นโครงการก่อสร้างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนเม็ดเงินลงทุนราว 65% ขณะที่อีก 35% จะเป็นโครงการใหม่ๆ ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 ซึ่งส่วนใหญ่จะยังเป็นการปรับพื้นที่ก่อสร้าง การเวนคืนที่ดิน และงานก่อสร้างเบื้องต้น

   สำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่สำคัญในปี 2566 จะเป็นโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะโครงการสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นอกจากนี้จะมีโครงการที่คาดว่าจะเดินหน้าก่อสร้างได้ต่อเนื่อง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ที่ได้เริ่มก่อสร้างในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทั้งนี้ แม้การลงทุนก่อสร้างภาครัฐจะสร้างโอกาสให้แก่อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง แต่ความท้าทายของผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้รับเหมาก่อสร้าง ยังคงอยู่ที่การบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่คาดว่าจะยังทรงตัวในระดับสูง ต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการเงินแบบตึงตัวของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รวมไปถึงการวางแผนรับมือกับความเสี่ยงเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมที่อาจสร้างความเสียหาย หรือล่าช้าต่อพื้นที่ก่อสร้างได้



 


Click
 ชมคลิป MEGA PROJECTS ดันมูลค่าก่อสร้างภาครัฐ ปี 66 ขยายตัว


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest