Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 ธันวาคม 2564

Econ Digest

ส่งออกอาหาร...สัตว์เลี้ยงคู่กาย โตสวนทิศเศรษฐกิจ จ่อขึ้นแท่นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 3 ของโลกปี 2565

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยซึ่งปัจจุบันอยู่ในอันดับ 4 ของโลก ยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง และคาดว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2565 จะแตะระดับที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตราว 20% ชะลอตัวเล็กน้อยจากปี 2564 ที่คาดว่าจะโต 23% ขยับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 3 ของโลก จากอุปสงค์ในต่างประเทศที่ยังขยายตัวต่อเนื่องทั้งปริมาณการเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรม Pet Humanization ที่เจ้าของใส่ใจสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัวและพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพสูง ตลอดจนความได้เปรียบทางด้านภาษีจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงที่สำคัญบางประเทศ เช่น อาเซียน ญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี ยังมีหลายปัจจัยท้าทายที่ผู้ประกอบการจะต้องติดตาม ได้แก่ ราคาพลังงานที่สูงขึ้นและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งสูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงโดยเฉพาะจากคู่แข่งอย่างเวียดนามที่เริ่มมีบทบาทในตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น นอกจากนี้ การจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ไทยจำเป็นต้องสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองให้มากขึ้น เนื่องจากประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จะส่งออกแบรนด์ของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงในไทยกว่า 80% รับจ้างผลิต (OEM) ให้แบรนด์ชั้นนำเพื่อขายในตลาดโลก ขณะที่ผลิตภายใต้แบรนด์ไทยมีเพียงแค่ 20% เท่านั้น

ดังนั้น เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนาและเร่งสร้างแบรนด์ รวมถึงอาจมุ่งเน้นไปที่กลุ่มอาหารสัตว์พรีเมี่ยมและสอดรับกับเทรนด์ในระยะข้างหน้า ที่สำคัญคือการเตรียมการรองรับความต้องการของตลาดนำเข้าหลักทั่วโลกที่คงจะมีการกำหนดมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การลดการปล่อยคาร์บอน (CO2) รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรพัฒนาสูตรอาหารที่เน้นเรื่องสุขภาพอนามัยของสัตว์เลี้ยง เนื่องจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงหันมาใส่ใจต่อสุขภาพสัตว์มากขึ้น และสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มอายุยืนอาจทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมา​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest