Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 กรกฎาคม 2563

Econ Digest

ส่อง...ตลาดที่อยู่อาศัยครึ่งหลังปี 63 ยังไม่พลิกกลับมาเป็นบวก

คะแนนเฉลี่ย
​ครึ่งปีแรก 2563 เครื่องชี้กิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ปรับลดลงตามปัจจัยแวดล้อม อัตราการรจองซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ช่วง 5 เดือนแรกปี 2563 เฉลี่ยหดตัวราว 75% (YoY) ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยลดลง 3.4% (YoY) จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดชะงัก และแผนกิจกรรมการตลาดของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยต้องเลื่อนออกไป

สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทิศทางการซื้อขายที่อยู่อาศัยน่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่น่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยยังพอมีปัจจัยด้านบวกอย่างมาตรการการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท (สิ้นสุด 24 ธ.ค. 63) และแคมเปญกระตุ้นตลาดของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจที่กระทบภาคธุรกิจและกำลังซื้อครัวเรือนเป็นวงกว้าง ทำให้การซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งปี 2563 ยากจะพลิกกลับมาเป็นบวก โดยคาดว่าจะมีจำนวน 62,000-67,000 หน่วย หรือหดตัว 37.9% ถึงหดตัว 32.9% จากปีก่อน ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยน่าจะมีจำนวน 140,000-145,000 หน่วย หดตัว 29.3% ถึงหดตัว 26.8% จากปีก่อน 
 
ภายใต้ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่ชะลอลง ผู้ประกอบการหลายรายมีการปรับลดการลงทุนและรอจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ว่าอาจส่งผลระยะสั้นต่อผลประกอบการ แต่ก็ถือเป็นการปรับสมดุลของอุปสงค์และอุปทานในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสินค้าในพอร์ตของผู้ประกอบการให้มีเสถียรภาพ โดยทั้งปี 2563 คาดว่าการลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีจำนวนประมาณ 68,000 -72,000 หน่วย ลดลง 42.8% ถึงลดลง 39.5% จากปีก่อน



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest