Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 เมษายน 2563

Econ Digest

สู้โควิด-19 ไม่ถอย ร้านอาหารและค้าปลีกเร่งปรับตัวสู่ออนไลน์ สร้างรายได้ชดเชยที่หายไป

คะแนนเฉลี่ย

​การออกมาตรการภาครัฐ ทั้ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และมาตรการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการในช่วงระหว่างวันที่ 22 มี.ค. –30 เม.ย. 2563 เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อบรรดาธุรกิจทั้งหลาย รวมถึงธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจร้านอาหาร เนื่องจากช่องทางรายได้หลักของธุรกิจมาจากการขายหน้าร้าน อย่างไรก็ดี ยังมีช่องทางการตลาดอื่น ที่จะเข้ามา
ช่วยสร้างรายได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ เนื่องจากมาตรการฯ ดังกล่าวยังอนุญาตให้สามารถประกอบกิจการได้แต่ต้องปรับรูปแบบการให้บริการ ซึ่งผู้ประกอบการบางรายได้มีการเร่งปรับตัวไปบ้างแล้ว อาทิ การเพิ่มช่องทางการขายทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อที่จะช่วยชดเชยรายได้ที่หายไป และประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด

ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกนั้น  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบจากมาตรการฯ ดังกล่าว เกิดกับยอดขายในบาง Segment เนื่องจากไม่สามารถเปิดกิจการได้เลย ได้แก่ ร้านค้าที่เปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าเฉพาะอย่าง  เช่น ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ร้านเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ร้านสุขภาพและความงามซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มค้าปลีกที่ไม่ใช่อาหาร (Non-Food) เป็นหลัก ขณะที่ค้าปลีกในกลุ่ม ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าออนไลน์ (E-Commerce) ยังได้รับอนุญาตให้เปิดบริการและน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าค้าปลีก Segment อื่นๆ  โดยกลุ่ม E-Commerce น่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% หรือ เพิ่มขึ้นราว 6,800 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจร้านอาหารจะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันตามรูปแบบการให้บริการของแต่ละร้านอาหาร ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มที่เน้นการให้บริการแบบนั่งทานในร้านย่อมจะได้รับผลกระทบมาก แต่ยังสามารถปรับตัวมาให้บริการแบบการซื้อกลับ (Takeaway) และการให้บริการส่งอาหาร (Food Delivery)แทนคาดว่าในส่วนของ Food Delivery น่าจะขยายตัวประมาณ 35-40% หรือ หรือเพิ่มขึ้นราว
1,200 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีการให้บริการดังกล่าวควรปรับตัวเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้และเพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางของตนเองหรือเข้าร่วมกับผู้ประกอบการที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นส่งอาหาร  รวมถึงปรับหน้าที่ของพนักงานในร้านให้เป็นผู้จัดส่งอาหารในละแวกใกล้เคียง

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ได้เข้ามากระทบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพและชีวิตของประชาชนในประเทศไทย  และกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจร้านอาหารต้องได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้รายได้จากช่องทาง E-Commerce และ Food Delivery จะเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติราว 8,000 ล้านบาท แต่ก็คงไม่สามารถทดแทนรายได้หลักจากช่องทางหน้าร้านที่สูญเสียไป จึงทำให้โดยสุทธิแล้ว คาดว่าภาพรวมมูลค่าตลาดค้าปลีกและตลาดร้านอาหารจะลดลงรวม 72,000 ล้านบาท ในช่วงระหว่างการบังคับใช้มาตรการฯ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest