Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 ตุลาคม 2563

Econ Digest

ช้อปดี มีคืน หนุนค้าปลีก กระตุ้นยอดขาย ส่งท้ายปลายปี’ 63

คะแนนเฉลี่ย
          ในช่วงปลายปี 2563 นี้ ภาครัฐได้มีการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้ง มาตรการ “คนละครึ่ง” ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อร้านค้าปลีกรายย่อยที่เน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านธงฟ้า ร้านโชห่วย ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก และมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการค้าปลีกที่จดทะเบียนอยู่ในระบบและออกใบกำกับภาษีได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แรงส่งจากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” และ “คนละครึ่ง” ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายส่งท้ายปี 2563 รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ จะช่วยหนุนภาพรวมธุรกิจค้าปลีกทั้งปี ให้หดตัวลดลงเป็น -6% เมื่อเทียบกับหากไม่มีมาตรการฯ ซึ่งคาดว่าจะหดตัวราว -7.2% YoY

           ​จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” (จำกัดวงเงินคนละไม่เกิน 30,000 บาท) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า สินค้าและบริการยอดนิยม 3 อันดับแรก คือ การรับประทานอาหารในร้านอาหาร อุปกรณ์ไอทีและของใช้จำเป็นส่วนบุคคล เช่น แชมพู ครีมอาบน้ำ ยาสีฟัน ซึ่งปกติผู้บริโภคมีการรับประทานอาหารและซื้อของใช้จำเป็นส่วนบุคคลอยู่แล้ว จึงไม่ได้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าช่วงที่ไม่มีมาตรการฯ มากนัก ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุปกรณ์ไอทีน่าจะได้รับความสนใจจากกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานมากขึ้นกว่าช่วงที่ไม่มีมาตรการฯ ทั้งนี้ ผู้บริโภควางแผนจะใช้จ่ายผ่านห้างสรรพสินค้า (รวมถึงร้านค้าและร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า) เป็นหลัก เนื่องจากห้างสรรพสินค้าเป็นช่องทางที่สามารถตอบโจทย์ด้านสินค้าและบริการที่ครบวงจร ขณะที่ E-market place เป็นช่องทางออนไลน์ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมในเรื่องสต็อกสินค้าและการอำนวยความสะดวกเรื่องใบกำกับภาษี เช่น มีบริการจัดส่งใบกำกับภาษีตามไปให้ถึงที่พักอาศัย หรือออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องต่อคิวรอนาน ควบคู่ไปกับมาตรการดังกล่าว เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest