Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 ตุลาคม 2564

Econ Digest

ธุรกิจโซลูชั่นโรงงานอัจฉริยะไทย...เดินหน้าโตสู่อนาคต

คะแนนเฉลี่ย

ปี 2564 เศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัว ตลาดธุรกิจบริการโซลูชั่นโรงงานอัจฉริยะ (SFS) ไทยกลับมาขยายตัวที่ 10.3% โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต้องการปรับตัวเพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน และการลงทุนของผู้ประกอบการจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งได้รับแรงเสริมจากการเป็นพันธมิตรระหว่างผู้ประกอบการ SFS รายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นและจีน กับผู้ประกอบการเทเลคอมไทย ทำให้เกิดระบบนิเวศการให้บริการ SFS แบบครบวงจรขึ้นในไทย

ในช่วงโควิด ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตไทยเริ่มขยายมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนโรงงานอัจฉริยะจากเดิมจำกัดอยู่เพียงการนำหุ่นยนต์และระบบลำเลียงอัตโนมัติมาใช้ ไปสู่การลงทุนเพื่อบริหารจัดการสายการผลิตแบบบูรณาการผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ นอกจากเพื่อให้การผลิตสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องและลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาแรงงานแล้ว ยังมีเป้าหมายที่จะสร้างสายการผลิตที่ยืดหยุ่นให้สามารถผลิตสินค้าที่หลากหลายได้ในสายการผลิตเดียวกัน ซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และช่วยให้สามารถวางแผนการผลิตทดแทนกันระหว่างโรงงานในกรณีวิกฤตได้

สำหรับปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาด SFS ไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลงสู่ระดับ 9.4% เนื่องจากเทียบกับฐานที่สูงในปี 2564 และกระแสการปรับปรุงสายการผลิตเพื่อเลี่ยงผลกระทบจากโควิดน่าจะอ่อนแรงลง แต่การลงทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมที่มีการใช้ระบบโรงงานอัจฉริยะน่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธุรกิจบริการ SFS ไทยยังมีข้อจำกัดที่ต้องพึ่งพาลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่และควรมีปริมาณการผลิตที่สูงเพื่อให้เกิดการประหยัดเชิงขนาด ทำให้ผู้ผลิต SMEs ไม่พร้อมลงทุน ดังนั้น ผู้ประกอบการ SFS อาจจะพิจารณานำโมเดลธุรกิจบริการเช่าใช้ระบบหุ่นยนต์เพื่อการผลิต (RaaS) มาประยุกต์ใช้ โดยคิดค่าใช้จ่ายตามระยะเวลาหรือปริมาณการผลิตจริง ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดด้านเงินลงทุนและปริมาณการผลิตของ SMEs


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest