Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 เมษายน 2566

Econ Digest

สงกรานต์ปี 2566 กลับมาคึกคักในรอบ 3 ปี คาด 5 วัน ไทยเที่ยวไทย 5.1 ล้านคน-ครั้ง การใช้จ่ายสะพัด 2.3 หมื่นล้านบาท

คะแนนเฉลี่ย

        สงกรานต์ปี 2566 หลายจังหวัดเตรียมจัดงานสงกรานต์เต็มรูปแบบกันอย่างคึกคัก โดยจากผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ 44.7% มีแผนท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ โดยเป็นการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนและท่องเที่ยวระหว่างการเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มที่ไม่มีแผนเดินทางมีอยู่ 28.3% ส่วนใหญ่เพราะต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาจราจรติดขัด ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด (88.9%) มีแผนเที่ยวในประเทศ ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่คนกรุงเทพฯ นิยมคือจังหวัดท่องเที่ยวทางทะเล อาทิ พัทยา หัวหิน เกาะช้าง ระยอง ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี ขณะที่การท่องเที่ยวต่างประเทศที่ยังมีสัดส่วนไม่สูง น่าจะเพราะค่าใช้จ่ายการเดินทางต่างประเทศยังสูงเมื่อเทียบกับในช่วงก่อนโควิด และเส้นทางการบินที่ยังมีค่อนข้างจำกัด

        สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ปี 2566 ของกลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ เฉลี่ยอยู่ที่ราว 5,250 บาทต่อคนต่อทริป เพิ่มขึ้นราว 8% จากผลสำรวจของปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนโควิด โดยการปรับเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมาจากหลายปัจจัย ทั้งหลายพื้นที่กลับมาจัดงานประเพณีสงกรานต์อย่างคึกคักและในงานมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งช่วยหนุนให้เกิดการใช้จ่ายระหว่างท่องเที่ยว นอกจากนี้ สถานที่ท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวได้กลับมาเปิดให้บริการตามปกติ รวมถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวที่กลับสู่ภาวะปกติ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวลดการทำโปรโมชั่นด้านราคาลง

        จากสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว รวมถึงผลสำรวจที่สะท้อนว่ากลุ่มตัวอย่างคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 วัน (13-17 เม.ย.) คนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะมีจำนวน 5.1 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ปี 2566 น่าจะมีมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 


Click
 ชมคลิป สงกรานต์ปี 2566 กลับมาคึกคักในรอบ 3 ปี คาด 5 วัน ไทยเที่ยวไทย 5.1 ล้านคน-ครั้ง การใช้จ่ายสะพัด 2.3 หมื่นล้านบาท

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น