Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 เมษายน 2565

Econ Digest

สงกรานต์ ยุคค่าครองชีพสูง คนกรุงฯ "กิน-ช้อป-เที่ยว" ประหยัด

คะแนนเฉลี่ย



จากภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 64 ต่อเนื่องถึงต้นปี 65 ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารและพลังงานดีดตัวสูงขึ้น  กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว  ในขณะที่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 65  น่าจะหดตัวต่อเนื่องจากปี 64 เหลือ 23,400 ล้านบาท เนื่องจากชาวกรุงฯ ลดกิจกรรมฉลองสงกรานต์และเลือกใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นสะท้อนว่า  มูลค่าการใช้จ่ายส่วนใหญ่ปรับลดลงเกือบทุกประเภท โดยในส่วนของการใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงสังสรรค์/ค่าอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็น 40% ของเม็ดเงินรวม หรืออยู่ที่ 9,500 ล้านบาท  ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีแผนทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน โดยเน้นประหยัดค่าใช้จ่าย ในขณะที่เม็ดเงินการช้อปปิงซื้อสินค้าอยู่ที่ 4,200 ล้านบาท โดยงด/ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เน้นซื้อสินค้าที่มีโปรโมชั่นลดราคาและมีแนวโน้มชะลอการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์  สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เม็ดเงินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากฐานที่ต่ำในปี 64  อยู่ที่ 6,050 ล้านบาท  โดยผู้ตอบแบบสอบถามเน้นใช้จ่ายอย่างระมัดระวังโดยให้อยู่ภายใต้งบประมาณที่ตั้งไว้  

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้ประกอบการธุรกิจอาจเน้นโปรโมชั่นส่งเสริมการขายระยะสั้นสำหรับสินค้าบางกลุ่ม เช่น สินค้าแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือสินค้าที่มีอายุผลิตภัณฑ์จำกัด เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มลูกค้าที่ยังมีงบประมาณในการจับจ่าย โดยการออกโปรโมชั่นลดราคาแบบขั้นบันได การให้ส่วนลดพิเศษสินค้าที่ขายได้ช้า หรือจัดชุดสินค้าแบบเซทเพื่อจูงใจให้เพิ่มปริมาณการซื้อสินค้าต่อครั้งมากขึ้น อันเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ธุรกิจต้องเน้นบริหารต้นทุนสินค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างความแตกต่างในภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันที่เข้มข้น

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest