Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 ตุลาคม 2563

Econ Digest

นโยบาย “กระตุ้นการใช้เหล็ก” หนุน...การผลิตเหล็กในประเทศ ดัน...ต้นทุนก่อสร้างโครงการรัฐฯ

คะแนนเฉลี่ย
​             หลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเหล็กไทยเผชิญความท้าทายเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านราคาจากเหล็กที่นำเข้าจากจีน เนื่องจากปัญหาเหล็กล้นตลาดในจีน ที่เริ่มเมื่อปี 2557 ทำให้ผู้ผลิตเร่งส่งออกเหล็กไปยังตลาดต่างประเทศ รวมถึงไทย ที่เป็นประเทศนำเข้าเหล็กอันดับต้นๆ ของโลก โดยราคาเหล็กเส้นที่ใช้ในงานก่อสร้างที่ไทยนำเข้าจากจีน อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาเหล็กเส้นของไทยเฉลี่ยราว 20% ในช่วงปี 2557-2562 ทำให้สัดส่วนการนำเข้าต่อการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นมากจาก 8% ในปี 2559 เป็น 40% ในช่วงปี 2560-2562 ทำให้ผู้ผลิตเหล็กในไทยพยายามเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กในประเทศอย่างต่อเนื่อง

            เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) เพิ่มหมวด 9 พัสดุ ส่งเสริมพัสดุที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะเหล็กที่จะให้ใช้เป็นสัดส่วน 90% ของมูลค่าหรือปริมาณทั้งหมดที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมดครั้งนั้น แต่เหล็กนั้นต้องผ่านการอณุมัติจากหน่วยงานรัฐว่าเป็นพัสดุที่ผลิตภายในประเทศก่อน นอกจากนั้นบริษัทสัญชาติไทยจะชนะการประมูลการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุหากเสนอราคาสูงกว่าราคาประมูลต่ำสุดไม่เกิน 3%

             ​ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นโยบายนี้จะช่วยเพิ่มการผลิตเหล็กในประเทศปีละราว 3.6 แสนตัน ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิต เพิ่มจาก 55% เป็น 58.6% แต่ก็อาจทำให้ต้นทุนก่อสร้างในโครงการภาครัฐเพิ่มขึ้นราว 0.5-0.8% ทั้งนี้ หากเกณฑ์นี้สามารถครอบคลุมไปถึงโครงการก่อสร้างที่ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP จะทำให้ตัวเลขการใช้เหล็กที่ผลิตเหล็กในประเทศสูงขึ้น เนื่องจากแผนงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในระยะหลังมักเป็นโครงการรูปแบบ PPP อย่างไรก็ดี โครงการประเภทนี้เป็นงานที่ต้องใช้เหล็กชนิดพิเศษ ทำให้การใช้เหล็กต้องขึ้นอยู่กับสัญญาของโครงการและสเป็คที่ผู้ออกแบบกำหนด 







                                                                                                                                                                                                               ​ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest