Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 สิงหาคม 2566

Econ Digest

การเงินเพื่อความยั่งยืน ยังเติบโต...แม้ชะลอตัวในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

คะแนนเฉลี่ย

        มูลค่าการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน (ตราสารหนี้และเงินกู้) ทั่วโลกในปี 65 และในช่วงครึ่งแรกปี 66 ปรับลดลงจากที่เคยสูงสุดในปี 64 เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยในปี 65 มีการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนคิดเป็นมูลค่า 1.54 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 14% จากปี 64 ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกปี 66 มีการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนจำนวน 7.17 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ  ลดลง 14.5%  จากช่วงเดียวกันของปี 65  สำหรับในประเทศไทย มูลค่าการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนยังคงเติบโตต่อเนื่อง จากการออกตราสารหนี้ Sustainability Bond ของภาครัฐ เพื่อใช้ในโครงการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนในประเภท Green และ Sustainability-Linked เช่นเดียวกับในต่างประเทศ โดยในปี 65 มูลค่าการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนในไทยมีจำนวน 7,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 41% จากปี 64  ขณะที่ในปี 66 การออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนมีมูลค่า 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 108% จากปี 65 จากการออก Sustainability Bond ของภาครัฐเป็นสำคัญ

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนในปี 66 มีโอกาสต่ำกว่าปี 65 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลต่อการลงทุนของภาครัฐและการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และโครงการลงทุนต่างๆ เดินหน้าได้ภายใต้นโยบายส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในมิติต่างๆ รวมถึงความตื่นตัวต่อประเด็นดังกล่าวของภาคเอกชน  กิจกรรมการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนน่าจะกลับมาคึกคักยิ่งขึ้น     โดยในระยะข้างหน้า ความท้าทายสำคัญในการพัฒนาตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน  ยังมาจากกระบวนการที่ซับซ้อนและต้นทุนที่สูงกว่าการออกตราสารหนี้ปกติ รวมถึงโครงการที่เข้าข่ายและน่าสนใจยังมีจำนวนน้อย  ส่งผลให้สัดส่วนการเงินเพื่อความยั่งยืนในไทยยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับทั่วโลก ซึ่งการกำหนดมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย (Thailand Taxonomy)   และการส่งเสริมที่เหมาะสมจากภาครัฐ น่าจะช่วยให้การพัฒนาของตลาดและการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายความยั่งยืนทั้งในระดับบริษัทและประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น


 


Click
 ชมคลิป การเงินเพื่อความยั่งยืน ยังเติบโต...แม้ชะลอตัวในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest