o การส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวสูง 15.0%YoY โดยมีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงเดียวกันของ 3 ปีก่อนหน้า (2565-2567) ที่ราว +3,550 ล้านดอลลาร์ฯ สะท้อนการเร่งนำเข้าสินค้าของตลาดต่างๆ ก่อนมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะมีผล 1 ส.ค. 2568 ขณะที่การนำเข้าไทยในช่วงครึ่งปีแรกก็ขยายตัวสูงที่ 11.6%YoY ส่งผลให้ไทยยังขาดดุลการค้าอยู่ที่ 62 ล้านดอลลาร์ฯ
o ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 การส่งออกไทยมีแนวโน้มหดตัวราว 10%YoY หลังมีการเร่งส่งออกสินค้าไปในช่วงก่อนหน้า และมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะนำเข้าสินค้าลดลงเพื่อบริหารต้นทุนการคงคลังสินค้า โดยในเดือนก.ค. 2568 ปริมาณเรือที่ออกจากท่าเรือไทยลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี (รูปที่ 2) สอดคล้องค่าระวางเรือไปยังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงตามอุปสงค์ที่ชะลอลง
o ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการส่งออกไทยในปี 2568 อยู่ที่ 1.5% แต่ยังต้องติดตามผลการเจรจาอัตราภาษีที่ไทยจะได้รับในวันที่ 1 ส.ค. 2568 อย่างไรก็ดี แม้ว่าไทยจะถูกเก็บภาษี Reciprocal tariff สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค แต่ผลกระทบต่อการส่งออกคงเพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้เดิมไม่มากนัก เนื่องจากสินค้าหลายรายการที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่เข้าข่ายถูกเก็บภาษีภายใต้ Reciprocal tariff แต่ถูกจัดเก็บภาษีเฉพาะรายอุตสาหกรรมตาม มาตรา 232 ซึ่งกำหนดอัตราเท่ากันทุกประเทศ (รูปที่ 3)
o อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาการประกาศขยายรายการสินค้าภายใต้ section 232 ในช่วงครึ่งหลังของปี เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และไม้แปรรูป เป็นต้น ซึ่งอาจกระทบการส่งออกไทยไปถึงปี 2569