Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 ตุลาคม 2565

Econ Digest

บริบทการค้าโลกเปลี่ยน...อุตฯ ไทย ต้องเร่งสร้างความได้เปรียบ

คะแนนเฉลี่ย


​ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกหลักของไทยลดลงในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ แม้กลุ่มยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ ยางล้อรถยนต์ ผลไม้สด ความสามารถในการแข่งขันของไทยจะยังค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ไปข้างหน้าอาจเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี กติกาของคู่ค้า และสภาพภูมิอากาศ


-   แม้ในปี 2564 และ 7 เดือนแรกปี 2565 มูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกจะเติบโตสูงในอัตราเลขสองหลักที่ 17.4% และ 11.5% (YoY) ตามลำดับ จากแรงหนุนความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวเมื่อสถานการณ์โควิดทั่วโลกทุเลาลงเป็นส่วนใหญ่ ผลพวงจากเหตุการณ์ในยูเครนที่ดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และผลบวกจากเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการส่งออกของไทยในปีนี้ก็น่าจะจบปีด้วยอัตราการเติบโตที่สูงได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของโลก พบว่า การส่งออกของไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 1.2% ในปี 2564 ลดลงจาก 1.3% ในช่วงปี 2560-2563 สะท้อนถึงสัญญาณที่ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยในภาพรวมเริ่มจะลดน้อยถอยลง ขณะที่ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนาม กลับมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามลำดับและแซงไทยไปแล้ว โดยอยู่ที่ 1.9% ในปี 2564 จาก 1.2% ในปี 2560


-   หากวิเคราะห์รายการสินค้าส่งออกหลัก 10 อันดับแรก (HS 4-digit ไม่นับน้ำมันสำเร็จรูปและทองคำ)1 พบว่า อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ วงจรรวม อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์/อุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นกลุ่มที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกต่อการส่งออกของโลกทรงตัวถึงลดลง สวนทางกับเวียดนามที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นชัดเจนซึ่งเป็นเพราะเวียดนามได้รับอานิสงส์จากการถูกเลือกให้เป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากนักลงทุนข้ามชาติระดับโลกหลายรายภายใต้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากข้อตกลงการค้าเสรีที่หลากหลาย สำหรับยางพารานั้น แม้ไทยจะครองความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดโลก แต่สัดส่วนก็เริ่มลดลง ขณะที่สัดส่วนของเวียดนามซึ่งส่งออกเป็นอันดับที่ 4 ของโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น


-    มองไปข้างหน้า ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน เป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดการกระจายการลงทุนของซัพพลายเชนผลิตภัณฑ์ไฮเทคที่แบ่งเป็น 2 มาตรฐาน เพื่อส่งออกไปยังตลาดทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้อาจจะส่งผลกระทบตามมาต่อการจัดหาสินค้าที่ยากลำบากขึ้นหรือมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการผลิตผลิตภัณฑ์กลางน้ำและปลายน้ำในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งแม้ไทยอาจได้แรงหนุนบ้างจากกระแสการกระจายการลงทุนดังกล่าว แต่เวียดนามน่าจะมีความได้เปรียบเนื่องจากเป็นฐานการผลิตที่สำคัญเป็นทุนเดิม ดังนั้น ความสามารถในการแข่งขันของไทยในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์นี้จึงอาจยิ่งเผชิญความท้าทายมากขึ้นอีกในระยะถัดไป


-    สำหรับยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ ยางล้อรถยนต์ และผลไม้สด เป็นกลุ่มที่ไทยยังสามารถรักษาสัดส่วนการส่งออกไว้ได้ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดีหรือเพิ่มขึ้น รวมทั้งทิ้งห่างคู่แข่งอย่างเวียดนามรวมทั้งอินโดนีเซียพอสมควร สะท้อนถึงความเข้มแข็งของไทยในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคในอุตสาหกรรมยานยนต์ และผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ ตลอดจนการเป็นผู้ผลิตผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญของโลกโดยเฉพาะทุเรียน


-    กระนั้น ในระยะข้างหน้า ยังมีโจทย์ท้าทายที่รออยู่สำหรับสินค้าส่งออกที่ไทยค่อนข้างมีความได้เปรียบทางการแข่งขันดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น

-    การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าใกล้ปี 2573 หรือ ค.ศ. 2030 ไทยจำเป็นต้องยืนหยัดและปรับจากการเป็นฮับการผลิตรถยนต์สันดาปภายในไปสู่การเป็นฮับการผลิตรถสมัยใหม่หรือรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้โดยเร็วและเร็วกว่าคู่แข่งสำคัญในภูมิภาคโดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งจุดจับตาที่สำคัญคือความเคลื่อนไหวในตลาดช่วงระยะ 1-3 ปีจากนี้

-    กติกาคู่ค้าที่หันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สอดรับกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนข้ามพรมแดน โดยสหภาพยุโรป (ผู้ประกอบการต้องเริ่มแสดงหลักฐานตั้งแต่ปี 2566 ก่อนที่อาจจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2569) และสหรัฐฯ (อยู่ระหว่างพิจารณาและอาจบังคับใช้ในปี 2569) รวมถึงมาตรการอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลต่อกระบวนการผลิตในหลายอุตสาหกรรมและในอนาคตอาจครอบคลุมมาถึงซัพพลายเชนการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ หรือแม้กระทั่งการทำเกษตร ทำให้ผู้ประกอบการคงต้องเร่งปรับตัวรองรับประเด็นนี้โดยเร็วที่สุด โดยกลุ่มที่อาจเผชิญความลำบากคงหนีไม่พ้น SMEs

-    ภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนสุดขั้ว ย่อมมีผลต่อฤดูกาลเพาะปลูก ปริมาณน้ำและอากาศ ผนวกกับการที่คู่ค้าและคู่แข่งหลายประเทศเริ่มพัฒนาการผลิตผลไม้สดอย่างทุเรียนได้มากขึ้น ทั้งจีน มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น สุดท้ายอาจกระทบคำสั่งซื้อและความสามารถในการแข่งขันของผลไม้ไทยได้  


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและกติกาการค้าที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและซับซ้อนขึ้นในช่วงข้างหน้า ไม่เพียงจะส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับสินค้าส่งออกหลักเหล่านี้ที่ต้องเร่งปรับตัว แต่ในทุกๆ อุตสาหกรรมของไทยคงต้องตระหนักและเตรียมการรับมือกับความท้าทายรอบด้านที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจำเป็นต้องทบทวนและปรับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา การยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการ และที่สำคัญคือการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ฯลฯ เพื่อให้ไทยยังคงสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกไว้ได้




------------------------------------------------------------------

 1 10 รายการคิดเป็นมูลค่ารวมกันราว 29% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปตลาดโลกในปี 2564


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น