Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 พฤษภาคม 2567

Econ Digest

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2567 ขยายตัว 1.5% YoY สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับประมาณการปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.6% จาก 2.8%

คะแนนเฉลี่ย

        เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2567 ขยายตัวที่ 1.5% YoY และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวที่ 1.1% QoQ (รูปที่ 1) โดยแม้ว่าจะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด แต่ก็ถือขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากการลงทุนภาครัฐที่หดตัวลงอย่างมากเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้าถึงเดือนเม.ย. 2567 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรม โดยภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงชะลอลงต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดน้อยกว่าช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าจากผลกระทบของสภาพอากาศที่ร้อนจัดและภัยแล้ง ขณะที่การส่งออกไทยหดตัวจากปีก่อนหน้าเนื่องจากปัจจัยฐานสูง ประกอบกับการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยที่ส่งผลให้การส่งออกไทยฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2567 มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (รูปที่ 2)

        ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและมีแนวโน้มทยอยขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น (YoY) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณจากทางภาครัฐที่มีทิศทางเร่งตัวขึ้นหลังจากงบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2567 นอกจากนี้ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยปีนี้ที่ 36 ล้านคน ขณะที่แม้ว่าการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า แต่เนื่องจากผลจากปัจจัยฐานที่อยู่ในระดับสูงของปีก่อนหน้าคงมีลดลง ส่งผลให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสที่เหลือของปีนี้
        สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงกว่าที่ประเมิน โดยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเติบโตจาก 2.8% มาอยู่ที่ 2.6% (รูปที่ 3) จากปัจจัยดังต่อไปนี้

  1. การลงทุนและการบริโภคภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่เคยคาด จากตัวเลขในไตรมาส 1/2567 ที่หดตัวลึกกว่าคาด แม้จะมีการเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่คาดว่าจะไม่เร่งตัวมากพอที่จะชดเชยการหดตัวในช่วงไตรมาส 1/2567 ได้
  2. การส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาด ตามทิศทางการค้าโลก ท่ามกลางภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังอ่อนแรง ประกอบกับมีความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งการส่งออกไทยเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างจากความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกที่ลดลง ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์ลงจาก 2.0% เป็น 1.5%
  3. ภาคการผลิตยังมีแนวโน้มอ่อนแรงต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงและอุปสงค์นอกประเทศที่ฟื้นตัวช้า ประกอบกับการเข้ามาตีตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีน
  4. ผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรง สภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในไตรมาส 1/2567 และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรบางส่วนในไตรมาส 2/2567 ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังภาวะลานีญาอาจส่งผลให้เกิดฝนตกชุกและอุณหภูมิปรับลดลง แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังได้ในบางพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรได้
  5. ติดตามผลกระทบหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และอาจมีผลต่อไปยังการจ้างงานและการลงทุนในประเทศ
  6. มาตรการกระตุ้นทางการคลังในประเทศยังมีความไม่แน่นอน โดยแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจออกมาตรการกระตุ้นในช่วงปลายปีนี้ แต่ผลต่อเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ ประมาณการเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนึงถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐไปบางส่วนแล้ว

 


Click
 ชมคลิป เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2567 ขยายตัว 1.5% YoY สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลง

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest

GDP