Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 มีนาคม 2564

Econ Digest

“ท่าเรือทวาย” กับผลกระทบต่อไทย

คะแนนเฉลี่ย
              หลังจากเอกชนไทยถูกยกเลิกสัมปทานในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายได้เพียงไม่นาน ทางกองทัพเมียนมาก็เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน จึงทำให้สมการทางการเมืองของเมียนมาเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง ก่อให้เกิดคู่แข่งรายใหม่ นอกเหนือจากไทยและญี่ปุ่นที่ต้องการลงทุนในโครงการนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม จะเกิดอะไรขึ้นกับไทย เมื่อจีนประกาศสนใจจะลงทุนในโครงการนี้เช่นกัน
โครงการ ท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นโครงการสำคัญระดับภูมิภาคที่ไทยมีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด เพราะโครงการนี้จะพลิกโฉมทิศทางโลจิสติก์ในภูมิภาค ซึ่งจะปลดล็อกศักยภาพที่แท้จริงของประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบัน เส้นทางทางการค้าโลกได้เปลี่ยนผ่านจากการขนส่งสินค้าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก มาสู่การขนส่งสินค้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อสหรัฐ ฯ และจีนได้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลก ต่อจากนี้ไป ภายในอีก 30 ปีข้างหน้า มหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนผ่านอีกครั้งมาเป็นจีนและอินเดีย ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในอนาคต เมื่อเส้นทางการค้าจะเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง คาบสมุทรอินโดจีนจะกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ท่าเรือน้ำลึกทวายจะช่วยปลดล็อกทางออกของมหาสมุทรอินเดียให้กับไทย ซึ่งเมื่อประกอบกับความได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้น​ฐานของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน การไหลของสินค้าในคาบสมุทรอินโดจีนนับตั้งแต่จีนตอนใต้ลงมาย่อมจะขนส่งได้สะดวกรวดเร็วกว่าหากผ่านทางประเทศไทย โครงการทวายจึงเอื้อประโยชน์ให้กับไทยเป็นทวีคูณ โดยประเทศไทยจะได้เป็นศูนย์กลางของสะพานเชื่อม (land bridge) ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ 
           นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับสัมปทานท่าเรือน้ำลึกทวายจะได้รับสัมปทานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหลังท่าเรือนี้ด้วย ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ หากพัฒนาให้สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตและซัพพลายเชนของเศรษฐกิจไทย จะสามารถส่งเสริมศักยภาพของไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางของภาคการผลิตและซัพพลายเชนในภูมิภาคนี้ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะทำให้ไทยสามารถผลักดันการบูรณาการของซัพพลายเชนในภูมิภาคได้ครบวงจรขึ้น (regional supply chain integration) โดยสามารถเชื่อมโยงซัพพลายเชนกับนิคมอุตสาหกรรมได้ทั่วทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC            ซึ่งอยู่ในเส้นทางโลจิสติกส์สำคัญของภูมิภาค ที่มีจุดเริ่มต้นที่ทวาย – กรุงเทพ – เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC –พนมเปญ – โฮจิมินห์ ในอนาคต ภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องยกระดับสู่ภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเน้นส่งออกสินค้าทางเทคโนโลยีที่เป็นสินค้าขั้นกลาง ไปประกอบหรือผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปในประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า เพื่อส่งออกไปยังอาเซียนและภูมิภาคอื่น เพราะฉะนั้น เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายตอบโจทย์การขยายตัวและการบูรณาการของภาคอุตสาหกรรมไทยได้อย่างลงตัว
           นอกเหนือจากนั้น เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายยังเป็นทำเลศักยภาพสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียใต้ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปัจจุบัน ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและแอฟริกา มากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแต่ละปี เพื่อผลิตน้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ที่ใช้จำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน และเอเชียใต้เป็นส่วนใหญ่ หากผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีลงทุนในเขตเศรษฐกิจทวาย ย่อมสามารถลดต้นทุนในการขนส่งน้ำมันดิบลงได้มาก  ซึ่งปัจจุบันไทยต้องขนส่งน้ำมันดิบอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา ทำให้มีระยะทางขนส่งเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 กิโลเมตร และใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน และที่สำคัญ การขนส่งน้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไปยังเอเชียใต้ และภายในภูมิภาคอาเซียนก็สามารถทำได้โดยสะดวกและรวดเร็ว อาจกล่าวได้ว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายคือพื้นที่ยุทธศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยเลยทีเดียว 
        เมื่อไทยเล็งเห็นผลประโยชน์มหาศาลจากโครงการทวายแล้ว จึงไม่แปลกใจที่ญี่ปุ่นและจีนจะเล็งเห็นถึงผลประโยชน์อันนี้ด้วย เริ่มจากประเทศญี่ปุ่นเห็นผลประโยชน์ในการสร้างซัพพลายเชนใหม่ในเมียนมา เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้า สำหรับก่อสร้างหรือใช้ในการผลิตรถยนต์ ซึ่งความต้องการสินค้าเหล่านี้ในภูมิภาคอาเซียน และเอเชียใต้ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ  นอกจากนี้ อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการลงทุนที่ทวาย เพราะประเทศญี่ปุ่นมีซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยอยู่แล้ว เมื่อเพิ่มฐานการผลิตใหม่ที่มีต้นทุนต่ำกว่า การบริหารจัดการซัพพลายเชนอย่างครบวงจรในอาเซียนก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหากญี่ปุ่นได้รับสัมปทานโครงการนี้ไป ประเทศไทยอาจพอได้รับประโยชน์บ้างจากการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังเมียนมาเพื่อเชื่อมต่อซัพพลายเชน อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงการทวายของญี่ปุ่นอาจเกิดความชะงักงัน เนื่องจากการเข้ายึดอำนาจของกองทัพในครั้งนี้ 
             ในทางกลับกัน การเข้ายึดอำนาจของกองทัพอาจเปิดทางให้จีนมีโอกาสในการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายมากขึ้น เพราะ ในสมัยรัฐบาลทหาร จีนเคยเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งในเมียนมาและยังเป็นแหล่งเงินทุนหลักของรัฐบาลเมียนมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจของทหารไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อแนวโน้มการลงทุนของจีนในเมียนมา  ขอเพียงการลงทุนในโครงการทวายให้ผลคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และทางภูมิรัฐศาสตร์ รัฐบาลจีนย่อมสนใจลงทุนในโครงการนี้ ท่ามกลางสงครามการค้าและศึกชิงมหาอำนาจโลกกับสหรัฐฯ การลงทุนในท่าเรือเพื่อไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาเป็นแนวคิดที่ดี เพราะกว่า 80% ของน้ำมันนำเข้าของจีนต้องขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งมีฐานทัพสหรัฐฯ ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง การมีทางเลือกอื่น ๆ เพื่อการขนส่งน้ำมัน เช่น ท่าเรือทวาย และท่าเรือเจ้าผิวก์ ล้วนเป็นทางเลือกที่ดี นอกจากนี้ ท่าเรือทวายยังเป็นเส้นทางการค้าสำคัญ เชื่อมโยง กรุงเทพ – พนมเปญ – โฮจิมินห์ และเชื่อมต่อไปถึงมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นมณฑลทางตอนใต้ที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจมาก ย่อมมีแต้มต่อทางการค้ามากกว่า ท่าเรือเจ้าผิวก์ที่ไม่ผ่านเมืองสำคัญอื่นใดนอกจาก เมืองมัณฑะเลย์ ก่อนเชื่อมโยงถึงมณฑลยูนนาน ดังนั้น หากจีนจะเริ่มสร้างซัพพลายเชนในอาเซียน เพื่อตอบโจทย์ตลาดจีน อินเดีย และอาเซียนไปพร้อม ๆ กัน ท่าเรือและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายตอบโจทย์นักธุรกิจจีนได้เป็นอย่างดี แต่ถ้านักลงทุนจีนได้รับสัมปทานโครงการทวายนี้ไป ประเทศไทยคงต้องรับมือกับสินค้าเมียนมาที่ผลิตโดยผู้ประกอบการจีน ซึ่งจะเข้ามาตีตลาดในไทย กัมพูชา เวียดนาม และแย่งส่วนแบ่งตลาดไปจากผู้ประกอบการไทย​อาจกล่าวได้ว่า ไทยมีส่วนได้เสียจากโครงการทวายนอกเหนือจากด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังมีส่วนได้เสียในด้านการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของไทยในระยะยาว 
              ​ปัจจุบัน เมื่อภาคเอกชนไทยถูกยกเลิกสัญญาสัมปทานในโครงการทวายทั้ง 7 ฉบับ บริษัทสามารถขอรับความคุ้มครองด้านการลงทุนตามกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Agreement for the Promotion and Protection of Investments) ได้ แต่การยกเลิกสัมปทานโครงการทวายในครั้งนี้เกี่ยวพันไปถึงยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทย เพื่อต่อยอดศักยภาพในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุนในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลไทยนำทีมโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาพูดคุยกับรัฐบาลเมียนมา และหาหนทางให้เอกชนไทยกลับเข้าไปร่วมสัมปทานในการลงทุนโครงการนี้อีกครั้งให้ได้ ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่อาจเข้ามาร่วมลงทุนในอนาคต ไทยก็ควรเปิดกว้างให้ประเทศพันธมิตรของเราใช้ความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมและศักยภาพของประเทศนั้น ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากโครงการทวายนี้ได้เช่นเดียวกัน


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest