Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 กุมภาพันธ์ 2568

Econ Digest

ทรัมป์เริ่มสงครามการค้ารอบใหม่ ส่งออกไทยเสี่ยง อิเล็กทรอนิกส์ ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์

คะแนนเฉลี่ย
  • โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มเดินหน้ามาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเป้าหมายกลุ่มแรกอยู่ที่ แคนาดา เม็กซิโก และจีน แม้ว่าจะมีการขยายเวลาการเก็บภาษีแคนาดาและเม็กซิโกออกไป 30 วัน หลังทั้งสองประเทศสามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงในเบื้องต้นหลายข้อเกี่ยวกับความมั่นคงชายแดน (รูปที่ 1)
  • การปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในรอบนี้เป็นเครื่องมือที่มีขอบเขตมากกว่าการค้า โดยใช้ต่อรองประเทศคู่ค้าให้ยอมเจรจาตามเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ มากขึ้น อาทิ นโยบายส่งกลับผู้อพยพที่ผิดกฎหมาย แก้ปัญหาภัยคุกคามจากยาเฟนทานิล ดึงเม็ดเงินลงทุนกลับประเทศ ส่งเสริมภาคธุรกิจและการผลิตในประเทศ เสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ซึ่งแตกต่างจากครั้งแรกที่มีวัตถุประสงค์เพียงต้องการสร้างความเป็นธรรมทางการค้าให้แก่สหรัฐฯ
  • สหภาพยุโรป เวียดนาม รวมถึงไทย มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกใช้เครื่องมือภาษีนำเข้าเพื่อต่อรองผลประโยชน์กับสหรัฐฯ ในลำดับถัดไป (รูปที่ 2) ซึ่งดูจากยอดมูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และสัดส่วนการพึ่งพิงตลาดส่งออกสหรัฐฯ เทียบกับ Nominal GDP โดยแคนาดาและเม็กซิโก พึ่งพิงตลาดส่งออกสหรัฐฯ ถึง 28.6% และ 18.2% ต่อ Nominal GDP ตามลำดับ สะท้อนถึงอำนาจการต่อรองของสหรัฐฯ ที่มากกว่า ในขณะที่จีนมียอดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงสุด
  • อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านแรงกดดันต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น จากราคานำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตกว่าครึ่งหนึ่งนำเข้ามาจากเม็กซิโกและแคนาดา และอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมจากแคนาดาและเม็กซิโกอยู่ที่ 63% ของการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมทั้งหมดของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางเงินเฟ้อที่ลงช้า และอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้น้อยกว่าที่ประเมิน ขณะที่การพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยคงขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศมากกว่า
  • สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สงครามการค้าครั้งนี้จะสร้างผลกระทบต่อภาพรวมการค้าโลกและส่งผลต่อเนื่องมายังการส่งออกไทย ดังนี้

1)    ผลกระทบโดยตรงจากการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ลดลง โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ มากที่สุด ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน โซลาร์เซลล์ ยางล้อ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น เนื่องจากมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก และค่อนข้างมีความยืดหยุ่นต่อราคา (รูปที่ 3)

2) ผลกระทบทางอ้อมจากการส่งออกไปตลาดโลกได้น้อยลง จากการแข่งขันกับสินค้าจีนในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ของเล่น เป็นต้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยมีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบต่ำเมื่อเทียบกับจีน และเป็นสินค้าที่จีนมีมูลค่าการส่งออกสูง (รูปที่ 4) นอกจากนี้ การส่งออกไทยไปจีนก็คาดว่าจะลดลงในกลุ่มที่มีความเกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีน ได้แก่ ยาง พลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

  • อย่างไรก็ดี ข้อสรุปยังขึ้นกับการเจรจา ซึ่งในกรณีที่มีการเลื่อนระยะเวลาการขึ้นภาษีนำเข้ากับไทยออกไป ส่งออกไทยอาจได้อานิสงส์สั้นๆ จากการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเพื่อแทนที่การนำเข้าจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน ที่โดนขึ้นภาษีไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest