Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 กรกฎาคม 2563

Econ Digest

ฟาร์มผักในเมือง ... เทรนด์เกษตรสมัยใหม่ที่จะเติบโตไปพร้อมกับวิถีผู้บริโภคในยุค New Normal

คะแนนเฉลี่ย

​​       การปลูกพืชในเมืองใหญ่อย่าง ฟาร์มปลูกผักในร่ม กำลังเป็นกระแสนิยมทั่วโลก เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่และความต้องการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับคนเมือง ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนต่างๆ (โรคระบาด/ภัยพิบัติ) ที่มีความถี่จะเกิดมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านอาหารและการตรวจสอบย้อนกลับ จากรูปแบบธุรกิจที่มีจุดแข็งสำคัญคือ Supply Chain ที่สั้นจึงทำให้ได้ผักที่สะอาดสดใหม่ และซื้อขายได้ทันที ณ. แหล่งผลิต


       ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สำหรับประเทศไทยช่วง 1-2 ปีถัดจากนี้ เราอาจเห็นธุรกิจฟาร์มปลูกผักในเมืองเพิ่มขึ้น เพราะด้วยเทคโนโลยีการปลูกที่ให้ผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่และหนึ่งหน่วยเวลาที่สูงกว่าปกติ 10-300 เท่า (ขึ้นอยู่กับชนิดของผัก คุณภาพและความยากง่ายในการปลูก) อีกทั้งมูลค่าผลผลิตที่ได้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าปกติ 2-3 เท่า น่าจะเป็นโอกาสทางการตลาดสำคัญที่ทำให้นักลงทุน 2 กลุ่มหลัก เข้ามาลงทุนในตลาดนี้มากขึ้น คือ 1) นักลงทุนที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร 2) กลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบทางการเกษตรเอง เช่น กลุ่มเชนร้านอาหารสุขภาพที่มีหลายสาขา เป็นต้น โดยทำเลที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการลงทุน ได้แก่ พื้นที่ใจกลางเมืองที่มีผู้คนอาศัยหรือสัญจรเป็นจำนวนมาก อาทิ ห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารสูง เป็นต้น เพื่อป้อนให้กับลูกค้าเป้าหมายที่สนใจและพร้อมเต็มใจจ่ายกับสินค้ากลุ่มนี้ อาทิ คนรักสุขภาพ ผู้ออกกำลังกายหรือผู้รักการทำอาหาร ส่วนในระยะต่อไปกลุ่มลูกค้าใหม่ที่น่าจับตาคาดว่า น่าจะอยู่ในกลุ่มของโรงแรม โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องการสินค้าคุณภาพสูงเพื่อนำเสนอให้กับลูกค้า ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น ทั้งจากเทรนด์การบริโภคเพื่อสุขภาพที่มีมาก่อนหน้านี้สักระยะแล้ว และความกังวลจาก COVID-19 ที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจนี้ จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้เข้าถึงความปลอดภัยด้านอาหารมากขึ้น

      โดยการเพิ่มขึ้นของฟาร์มผักในเมือง แน่นอนว่าจะทำให้ผู้บริโภคในเมืองมีโอกาสเข้าถึงสินค้ากลุ่มผักที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นในฝั่งผู้บริโภค แต่คงต้องยอมรับว่า ในฝั่งของผู้ประกอบการ ธุรกิจนี้ในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและเงื่อนไขของความสำเร็จในอนาคตก็ยังเป็นประเด็นที่ท้าทายอยู่พอสมควร ทั้งในเรื่องของการเลือกหรือลงทุนในทำเลที่ตั้งฟาร์มที่จะต้องใกล้หรือเข้าถึงผู้บริโภคมากหรือเร็วที่สุด การเลือกชนิดผักที่ปลูกให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลา/กระแสนิยม การพัฒนาสายพันธุ์หรือรสชาติของผักที่ต้องอาศัยนวัตกรรมเทคนิคการปลูกระดับสูง นอกจากนี้ หากต้องการขยายกิจการหรือลงทุนเพิ่มในสเกลที่ใหญ่ขึ้น อาจจะต้องอาศัยการระดมทุน (Raise Fund) ในลักษณะเดียวกับ Startup เพื่อหาสถานที่ที่เหมาะสม บุคลากร รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจ หรือมีการจับมือหรือร่วมลงทุนกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น กลุ่มฟาร์มปลูกพืชในร่มด้วยกันเอง กลุ่มนวัตกรรมแสงเทียม LED กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์สำหรับโรงผลิตพืช เป็นต้น ซึ่งเป็นเม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง
ยกตัวอย่างเช่น ในการลงทุนฟาร์มปลูกผักเพื่อสุขภาพ โดยใช้พื้นที่ 20-25 ตารางเมตร มีค่าลงทุนโรงเรือนและระบบเริ่มต้นอยู่ที่ 2,000,000 ล้านบาท เลือกทำเลใจกลางเมืองเพื่อประโยชน์ด้านโลจิสติกส์ทำให้อาจมีค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สูง และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าแรง ค่าวัตถุดิบ (เมล็ดพันธุ์/สารเคมี) ค่าการตลาด ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท/เดือน เบื้องต้นพบว่า ธุรกิจอาจต้องใช้เวลาเฉลี่ย 3-5 ปีกว่าจะคืนทุนหรือ Breakeven ซึ่งปัจจัยสำคัญจะขึ้นอยู่กับการตอบรับของลูกค้าที่จะมีผลต่อทิศทางการเติบโตของรายได้ และสภาวะการแข่งขันในตลาดด้วย  
        ดังนั้น แม้มีโอกาสทางการตลาดจากวิถีการบริโภคของผู้บริโภคคนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันภาครัฐก็ให้การสนับสนุนการลงทุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี แต่ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายหากจะเข้าสู่ตลาดนี้ ซึ่งเงื่อนไขความสำเร็จ คงอยู่ที่ความพร้อมด้านเงินลงทุน ทำเลที่ตั้ง ความพร้อมด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสการบริโภคที่จะรวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ลงทุนต้องพิจารณาทุกปัจจัยอย่างรอบคอบ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest