Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 พฤษภาคม 2563

Econ Digest

ไฟป่า...ความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่า

คะแนนเฉลี่ย

           สถานการณ์ไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศทั้งจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและการลักลอบเผาป่า พบว่า สถิติพื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้รวมทั้งประเทศสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 จนถึงวันที่ 23 เมษายน 2563 อยู่ที่ 170,835 ไร่ ซึ่งพื้นที่กว่า 75% อยู่ในภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ซึ่งพบพื้นที่จุดความร้อนจำนวนมาก ส่งผลให้พื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์เสียหายเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ การลุกลามของไฟป่ายังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชนในพื้นที่ทั้งจากการขยายวงกว้างเข้าใกล้พื้นที่อยู่อาศัย และปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมทั่วพื้นที่เชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง

         แม้ว่าความรุนแรงของไฟป่าดูเหมือนจะบรรเทาลงตามลำดับบ้างแล้ว จากฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงประกอบกับความพยายามของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมและดับไฟอย่างต่อเนื่อง (ในปีงบประมาณ 2563 ภาครัฐมีการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน รวมมูลค่าประมาณ 720 ล้านบาท) แต่เนื่องจากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้พื้นที่ภาคเหนือต้องประสบปัญหาวิกฤติมลพิษทางอากาศ โดยดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) จังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับเมืองคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกติดต่อกันถึง 5 วัน ในช่วงวันที่ 11-15 มีนาคม 2563 สูงสุดอยู่ที่ 661 และค่า PM 2.5
อยู่ที่ 551 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

           ทั้งนี้ เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าและหมอกควันกลายเป็นปัญหาที่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต้องเผชิญซ้ำโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งของทุกปี และสถานการณ์ดูจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นทุกปี ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเบื้องต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2563 ต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากเหตุไฟไหม้ป่า อาจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000 ถึง 10,000  ล้านบาท[1] ซึ่งผลกระทบหลักจะตกหนักอยู่ที่ภาคการบริการที่มีสัดส่วนมากที่สุดในโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเหนือราว 54%

           นอกจากผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือแล้ว การสูญเสียพื้นที่ป่าดังกล่าวยังก่อให้เกิดผลกระทบภายนอกด้านสิ่งแวดล้อมโดยรวมทั้งประเทศ เนื่องจากพื้นที่ป่าในภาคเหนือถือเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญของประเทศ และยังเป็นกลไกตามธรรมชาติที่ช่วยป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ต้นทุนค่าเสียโอกาสด้านสิ่งแวดล้อมจากการสูญเสียพื้นที่ป่าอาจคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคำนวณผ่านมูลค่าของ Carbon Trade จากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ป่าจะดูดซับไว้ได้และมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติอย่างอุทกภัย อย่างไรก็ดี เม็ดเงินค่าเสียโอกาสข้างต้นเป็นการประเมินมูลค่าเบื้องต้นซึ่งยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน ผลกระทบต่อสัตว์ป่า พันธุ์พืช และความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่อาจประเมินมูลค่าได้ ดังนั้น ภาครัฐ ท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องเตรียมแผนการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ไฟไหม้ป่าอย่างยั่งยืน ทั้งการให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่และจัดสรรพื้นที่ทางการเกษตรอย่างเป็นระบบเพื่อลดปัญหาการลักลอบเผาป่า จัดสรรทรัพยากรและงบประมาณเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่าเพิ่มเติม รวมถึงแผนดำเนินการเพื่อฟื้นฟูผืนป่าที่ได้รับความเสียหายให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

         ​กล่าวโดยสรุป ปัญหาไฟไหม้ป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นต่อเนื่องในทุกปี
ไม่เพียงก่อให้เกิดผลกระทบทางตรงต่อประชาชนและเศรษฐกิจในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมทั้งประเทศ คิดเป็นมูลค่าต้นทุนค่าเสียโอกาสทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไม่ต่ำกว่า 5,100 ล้านบาท ในปี 2563 ดังนั้นการดำเนินการเชิงรุกเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้ป่าจึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย



[1] คำนวณจากการประเมินมูลค่าที่สูญเสียไปของเศรษฐกิจภาคเหนือในช่วงเวลา 2 เดือนที่เกิดไฟไหม้ป่ารุนแรง ควบคู่กับการวิเคราะห์โดยอ้างอิงงานวิจัยจากกรณีไฟไหม้ป่าในออสเตรเลีย


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest