Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 กันยายน 2563

Econ Digest

ไห่เถา...แตะ 300 ล้านคน โอกาสแบรนด์ไทยแท้ ลุย...ตลาดจีนผ่าน ครอส บอร์เดอร์ อีคอมเมิร์ซ

คะแนนเฉลี่ย

​              ตลาด E-Commerce ในจีน จัดเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2562) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55% ของมูลค่าตลาด E-Commerce โลก หรือใหญ่กว่ามูลค่า E-Commerce สหรัฐฯ ถึง 2 เท่า ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ด้วยเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนจีนที่สูงขึ้น และต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเมืองหลักที่เป็น Tier 1 เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา เซินเจิ้น ทำให้สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศตอบโจทย์และเป็นที่ต้องการมากขึ้น ส่งผลให้การทำธุรกรรมการค้าข้ามพรมแดนผ่านช่องทางออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Cross-border E-commerce (CBEC) ในจีน กลายเป็นช่องทางการค้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูง เฉลี่ยปีละ 35-40% (CAGR ปี 2560-2563) ซึ่งสูงกว่ามูลค่าตลาด E-commerce ภายในประเทศ ที่โตเฉลี่ยราว 20-25% ต่อปี หรือแม้แต่มูลค่าตลาดค้าปลีกรวมที่ขยายตัวเฉลี่ย 7-8% ต่อปี อีกทั้ง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้มีการผ่อนปรนเงื่อนไข/กฎระเบียบต่างๆ ในการทำธุรกิจ Cross-border E-Commerce โดยหนึ่งในนั้นคือ การขยายโควตาให้ชาวจีนสามารถซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม Cross-border E-Commerce ได้เพิ่มขึ้น เป็นปีละไม่เกิน 26,000 หยวนต่อคนต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 20,000 หยวนต่อคนต่อปี รวมถึงการลดภาษีสินค้านำเข้าที่ต่ำกว่าการค้าแบบปกติ (Normal trade) ส่งผลให้คนจีนที่ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม Cross-border E-Commerce หรือที่เรียกคนกลุ่มนี้ว่า Haitao (ไห่เถา) มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะแตะ 300 ล้านคนในปี 2564

              ท่ามกลางตลาด Cross-border E-commerce ในจีนที่ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ จึงทำให้หลายๆ ประเทศต้องการที่จะเข้าไปเจาะตลาดดังกล่าวกันเป็นจำนวนมาก รวมถึงผู้ประกอบการไทยด้วย อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าตลาดจะมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก แต่การเข้าไปทำตลาด Cross-border E-commerce ในจีนก็อาจจะไม่ง่ายนักสำหรับผู้ประกอบการไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะเจาะตลาดจีนผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว อาจจะต้องศึกษาตลาด และคำนึงถึงความคุ้มทุนหรือกำไรอย่างละเอียดและรอบคอบ ซึ่งปัจจัยท้าทายต่างๆ ที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่

    1. การเผชิญการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะการแข่งขันกับสินค้าที่มาจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับความนิยมเกินกว่า 72% และ 60% ของคนจีนทั้งหมดที่ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว ตามลำดับ ในขณะที่คนที่ซื้อสินค้าผ่าน Cross-border E-commerce จากไทย มีสัดส่วนที่น้อยมากไม่ถึง 2% และส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าต่อชิ้นไม่สูงนัก ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว เครื่องสำอาง และสินค้าเพื่อสุขภาพ เช่น หมอนยางพารา ยาดม เป็นต้น

      2. ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มดังกล่าวค่อนข้างสูง อาทิ ค่ามัดจำ ค่ารายปี ค่าคอมมิชชั่น (2%-10% ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า) ซึ่งรวมแล้วน่าจะราวๆ ไม่ต่ำกว่า 5 แสน–1 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแพลตฟอร์ม และหากต้องการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายด้านการทำการตลาดเพิ่มขึ้นอีก

        ​3. เศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีจากการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกอย่างใกล้ชิดที่อาจส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและกำลังซื้อของจีน จึงทำให้คาดว่า ผู้บริโภคจีนยังคงมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็น

              อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากมองโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปทำตลาด Cross-border E-commerce ในจีน ก็ยังมีความเป็นไปได้เช่นกัน เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่สำคัญอย่างญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ซึ่งประเภทของสินค้าที่คนจีนซื้อไม่ได้แตกต่างจากสินค้าไทย (เครื่องสำอาง สกินแคร์ ของใช้ส่วนตัว สินค้าเพื่อสุขภาพ) และราคาของสินค้าก็มีมูลค่าที่ไม่สูงมาก เนื่องจากการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มนี้มีการจำกัดโควตาในการซื้อต่อครั้ง (ครั้งละไม่เกิน 5,000 หยวน) และยอดรวมต่อปี (รวมแล้วไม่เกิน 26,000 หยวน) แต่สาเหตุที่คนจีนนิยมที่ซื้อสินค้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวในสัดส่วนที่สูงกว่าไทยมากเนื่องจาก ให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพของสินค้า รวมถึงการให้บริการหลังการขายเป็นหลัก ซึ่งสินค้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สามารถสร้างการรับรู้ถึงปัจจัยดังกล่าวได้ดี ดังนั้น สินค้าไทยที่นับว่ามีจุดแข็งในเรื่องของคุณภาพที่สูงเช่นกัน และคนจีนก็ให้การยอมรับมากขึ้น อาจจะต้องหันมาสร้างการรับรู้และตอกย้ำจุดขายไปที่ความเป็นสินค้าไทยแท้ที่มีคุณภาพ และอาจจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยเน้นการสร้างที่มาหรือเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น สร้างจุดขายโดยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ให้มีความทันสมัย เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนจีนกลุ่มนี้ที่มีความทันสมัยและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวในจุดนี้ได้ ก็น่าจะทำให้โอกาสในการขยายตลาด Cross-border E-commerce ของไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่าสินค้าที่สูงขึ้น รวมถึงสัดส่วนของคนจีนที่ซื้อสินค้าไทยจากแพลตฟอร์มดังกล่าวก็อาจจะเพิ่มขึ้นตาม

              ​ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องระมัดระวังอย่างมากในการทำตลาดในจีน คือ การจดเครื่องหมายการค้า (Trademark) ให้เรียบร้อยก่อนที่จะทำตลาด เพื่อปกป้องสิทธิของเจ้าของแบรนด์ไทยและเลือกช่องทางในการทำตลาดให้เหมาะสมกับงบและเจาะได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจอาจจะไม่ใช่แค่ในเมืองหลักอย่าง Tier 1 เท่านั้น แต่หมายถึงกลุ่มผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ใน New Tier 1 ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ และคนกลุ่มนี้ต่างต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมองว่าสินค้าจากต่างประเทศเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยไม่แตกต่างจากคนจีนที่อยู่ในเมือง Tier 1 จึงทำให้มีความต้องการสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม Cross-border E-commerce มากขึ้น เช่น เฉิงตู หางโจว ฉงชิ่ง เป็นต้น


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest