Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 เมษายน 2565

Econ Digest

สินเชื่อทะเบียนรถปี 65 ปูพรม...รุกตลาดล่าง คาด...ขยายตัวต่อเนื่องที่ 15-20%

คะแนนเฉลี่ย

​สินเชื่อทะเบียนรถขยายตัวสูงช่วงวิกฤติโควิดปี 2563-2564 โดย ณ สิ้นปี 2564 บัญชีผู้กู้มีจำนวนเพิ่มขึ้นราว 1 เท่าตัว ยอดคงค้างสินเชื่อขยับขึ้น 45% จาก ณ สิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ 4.20 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อคงค้างรวม 1.81 แสนล้านบาท ขณะที่จำนวนหนี้เสีย (NPL) ในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้นเกือบ 100% เป็น 2.93 พันล้านบาท แต่ด้วยฐานสินเชื่อที่ใหญ่ขึ้นทำให้อัตราส่วน NPL ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.62% ทั้งนี้ การเติบโตสูงของสินเชื่อทะเบียนรถนี้ เกิดจากธุรกิจฝั่ง Non-Bank เป็นหลัก ส่วนหนึ่งเพราะมีผู้ให้บริการเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะ Non-Bank ที่มีฐานทุนขนาดใหญ่ และการขยายฐานลูกค้าในตลาดล่างที่ครอบคลุมทะเบียนรถจักรยานยนต์ ขณะที่ธุรกิจฝั่งธนาคารค่อนข้างทรงตัวด้วยกลยุทธ์การตลาดที่ยังเน้นสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ รถกระบะ และบิ๊กไบค์ ในกลุ่มลูกค้าระดับกลางเป็นหลัก


แนวโน้มปี 2565 มีโอกาสโตต่อเนื่อง แต่ด้วยฐานที่สูงทำให้คาดว่าจะเติบโตในกรอบ 15-20% เทียบกับที่โต 20.4% YoY ในปี 2564 อันเป็นผลจาก นโยบายเครดิตเชิงรุกของ Non-Bank การเพิ่มช่องทางขอสินเชื่อ การให้วงเงินกู้สูงขึ้นและให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ กอปรกับความต้องการกู้ยืมที่ยังสูง ขณะที่คาดว่าสินเชื่อทะเบียนรถในระบบธนาคารพาณิชย์คงประคองตัว เนื่องจากสถานะความเป็นเจ้าของรถที่ชะลอลงในช่วงวิกฤตโควิด เพราะมีสินเชื่อเช่าซื้อรถจำนวนหนึ่งขอเข้ามาตรการชะลอหนี้ ยืดหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้มีรถปลอดภาระเข้าสู่ระบบลดลง


สำหรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทะเบียนรถ แม้ว่าจะมีทิศทางเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับค่อนข้างใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากการแข่งขันที่สูง และเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนเงินเฉลี่ย ความเสี่ยง และผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น โดยช่วงอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อทะเบียนรถอยู่ในช่วงตั้งแต่ 10-24% ต่อปี ตามประเภทรถ สถานะอาชีพและการเงินของผู้กู้ รวมถึงประเภทผู้ให้บริการ ทั้งนี้ การเติบโตของสินเชื่อทะเบียนรถมีทั้งมุมบวก คือช่วยให้ลูกค้ารายย่อยเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ไม่แน่นอนและมีความอ่อนไหวต่อปัญหาปากท้อง แต่ก็ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปหากเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสะดุดตัวลง

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest