Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 มิถุนายน 2564

Econ Digest

ภาวะ...ชิปขาดตลาด ค่ายรถปรับแผน ชะลอการผลิตรถไทยกว่า 4 หมื่นคัน

คะแนนเฉลี่ย

​​

ตั้งแต่ปลายปี 2563 อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนชิป โดยสาเหตุพื้นฐานมาจากความเปราะบางของโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิปสำหรับรถยนต์ ซึ่งทำให้เมื่อเกิดปัญหาอุปสงค์และอุปทานชิปที่ผันผวนจากหลายสาเหตุ อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด19 การเพิ่มสต็อกชิปจำนวนมากของผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของจีนก่อนการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และเหตุเพลิงไหม้โรงงานชิปในญี่ปุ่น จึงทำให้เกิดภาวะขาดแคลนชิปรถยนต์ขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะเริ่มคลี่คลายชั่วคราวในช่วงครึ่งหลังปีนี้ แต่ในระยะยาว การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานชิปรถยนต์น่าจะยังคงเป็นโจทย์สำคัญของค่ายรถ

สำหรับไทย จากช่วงปลายปี 2563 จนถึงช่วงไตรมาสแรกปีนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยซึ่งมีผู้ผลิตรถกลุ่มหลักเป็นค่ายรถญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบจำกัดจากอุปทานชิปตึงตัว เนื่องจากไทยใช้ห่วงโซ่อุปทานชิปในญี่ปุ่นที่เป็นผู้ผลิตชิปรถยนต์โดยเฉพาะ และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับค่ายรถญี่ปุ่น ทำให้สามารถปรับแผนการผลิตและสต็อกชิปได้อย่างรวดเร็ว แต่จากเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตชิปในญี่ปุ่น น่าจะทำให้เกิดการชะลอการผลิตรถในไทยในช่วงไตรมาส 2 อย่างไรก็ดี ภาวะขาดแคลนชิปในไทยน่าจะทยอยคลี่คลายได้ในไตรมาส 3 หลังโรงงานผลิตชิปได้รับการฟื้นฟูจากเพลิงไหม้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาวะชิปตึงตัวในไทยน่าจะส่งผลให้เกิดการปรับแผนและชะลอการผลิตรถในปี 2564 ราว 4.4 หมื่นคัน โดยการชะลอดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลต่อยอดการผลิตในปีนี้ ที่ประเมินไว้ที่ราว 1.8 ล้านคัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในระยะข้างหน้า ค่ายรถน่าจะเร่งพิจารณาปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานชิป โดยเลือกพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตชิปรถยนต์เป็นหลักมากขึ้น และลดการพึ่งพาผู้ผลิตในกลุ่มอื่น เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่อุปทานชิปโดยรวม ขณะเดียวกันก็ร่วมวางแผนในการลงทุนฐานผลิตชิปให้กระจายตามแต่ละภูมิภาคที่ค่ายรถมีฐานผลิตอยู่ เพื่อลดควา​มเสี่ยงจากอุบัติภัย และสามารถวางแผนการผลิตที่ยืดหยุ่นเพื่อรองรับความผันผวนของอุปสงค์ที่อาจแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest