Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 ตุลาคม 2563

Econ Digest

คลาวด์โซลูชั่นโตฝ่าวิกฤติโควิด-19

คะแนนเฉลี่ย
              ในช่วงที่ผ่านมาของการเกิดโควิด-19 ในไทย โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ที่หลายองค์กรธุรกิจต้องใช้มาตรการทำงานจากที่บ้าน ทำให้การสร้างความต่อเนื่องของกิจกรรมทางธุรกิจอย่างเร่งด่วนกลายมาโจทย์สำคัญ ส่งผลให้ธุรกิจให้บริการคลาวด์โซลูชั่น ในปี 2563 มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากสามารถลดระยะเวลาการลงทุนและติดตั้งระบบไอทีลงได้ และสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มไม่สู้ดีนัก 

              ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2563 ตลาดบริการคลาวด์โซลูชั่นจะมีมูลค่าประมาณ 15,718 ล้านบาท เติบโตราวร้อยละ 19.4 ขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยการเติบโตส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากกลุ่มสถาบันการเงิน  ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจสั่งอาหารออนไลน์ เป็นต้น

               ในระยะข้างหน้าหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิด-19 โจทย์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการคลาวด์โซลูชั่น ก็มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยองค์กรธุรกิจตั้งแต่รายเล็กถึงรายใหญ่ ได้ปรับเปลี่ยนมาสู่การใช้บริการคลาวด์โซลูชั่นมากขึ้น ทำให้ความแตกต่างด้านศักยภาพการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการมีไม่มากนัก ส่งผลให้โจทย์ระยะถัดไปของผู้ประกอบการ น่าจะปรับเปลี่ยนสู่ การมุ่งเน้นการมอบบริการที่สร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ ให้แก่ผู้บริโภคขั้นปลาย เพื่อสร้างความแตกต่างเชิงธุรกิจให้กับลูกค้าองค์กรของตน ผ่านการพัฒนาโซลูชั่นดิจิทัล ที่สามารถเข้าใจภาพธุรกิจขององค์กร เช่น มีผู้บริโภคเป้าหมายเป็นใคร จุดเด่นของสินค้าหรือบริการ กำลังการผลิตหรือการให้บริการขององค์กร เป็นต้น มาประกอบเข้ากับข้อมูลผู้บริโภค (Big Data) เพื่อส่งมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคขั้นปลาย

             ​ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ในปี 2564 ตลาดบริการคลาวด์โซลูชั่นน่าจะยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยด้านการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นระหว่างองค์กรธุรกิจในยุคดิจิทัล และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปี 2563 หลายธุรกิจได้หันมาใช้งานคลาวด์โซลูชั่นแล้ว ในระดับที่ค่อนข้างสูงดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ความต้องการใช้งานคลาวด์โซลูชั่น น่าจะชะลอตัวลงในปีหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2564 ตลาดบริการคลาวด์โซลูชั่นน่าจะขยายตัวราวร้อยละ 8.2 โดยมีมูลค่าตลาดราว 17,003 ล้านบาท



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest