Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 สิงหาคม 2563

Econ Digest

ธุรกิจที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ...ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ ?

คะแนนเฉลี่ย

​              ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์[1] ในปี 2567 และอีก 12 ปีข้างหน้าหรือในปี 2575 เราจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด[2] ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อหรือเงินออมจะเป็นตลาดสำหรับสินค้าและบริการที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุได้อย่างสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้สูงอายุในอนาคตที่มีแนวโน้มอยู่คนเดียวมากขึ้น ซึ่งสะท้อนจากข้อมูลการสำรวจประชากรผู้สูงอายุ ปี 2560[3] พบว่า สัดส่วนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวอยู่ที่ประมาณ 10% ของประชากรผู้สูงอายุ เติบโตกว่า 4.5% (CAGR) ในช่วงปี 2550-2560 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปในอนาคต ส่งผลให้ปัจจัยพื้นฐานอย่างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ น่าจะเป็นที่ต้องการตามการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทย

            สำหรับอุปทานที่พักอาศัยผู้สูงอายุในปัจจุบันยังเน้นเจาะตลาดกลุ่ม Upper Class และ Luxury Segment พร้อมกับบริการระดับพรีเมียม สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อสูงเป็นหลัก โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิ์ซื้อต้องมีอายุ 50-55 ปีขึ้นไป และชำระค่าเข้าพักเป็นเงินก้อนและเงินจ่ายล่วงหน้า ไม่รวมค่าส่วนกลางและค่าใช้จ่ายรายเดือนอื่นๆ แต่อาจยังไม่ตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อรองลงมาที่มีการวางแผนเงินออมเพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมายังคงมีตัวเลือกไม่มากนัก ทำให้น่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการทำตลาดสำหรับกลุ่มเป้าหมายนี้ โดยมีองค์ประกอบที่เหมาะสมทั้งปัจจัยด้านราคา ฟังก์ชั่นที่พักอาศัยและบริการทางการแพทย์ที่จำเป็น รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุตลอดการอยู่อาศัย


                อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านกำลังซื้อของผู้สูงอายุ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพยังคงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีเงินออมเพียงพอ หรือมีการวางแผนทางการเงินหลังเกษียณล่วงหน้า แต่ยังจำเป็นต้องมีเงื่อนไขสนับสนุนที่เหมาะสมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุในกลุ่มที่เน้นการสร้างหลักประกันในการดูแลและบริการทางการแพทย์ที่จำเป็นตลอดระยะเวลาที่เข้าพัก มากกว่าความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย

                 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงื่อนไขสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยให้ตลาดที่พักอาศัยผู้สูงอายุตอบโจทย์ความต้องการผู้สูงอายุที่มีศักยภาพได้มากขึ้น อาจต้องประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่

              1) การสร้างความเชื่อมั่นในการรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้สูงอายุในแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะในด้านสุขภาพหรือการรักษาพยาบาลแบบ Continuing Care ซึ่งแพคเกจที่นำเสนอต้องมีความยืดหยุ่นได้ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ตามสัญญา มีทรัพยากรหรือพันธมิตรทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือเพื่อสร้างความมั่นใจว่าสามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ เช่น หากผู้สูงอายุเปลี่ยนจากที่เคยดูแลตัวเองได้ เป็นผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาพยาบาล ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนบริการที่จะได้รับภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงไว้ โดยผู้สูงอายุสามารถเลือกบริการเพิ่มเติมแบบ Customized ได้เองตามความต้องการ สามารถแบ่งจ่ายเป็นรายงวด หรือจ่ายในรูปแบบเบี้ยประกันสุขภาพที่จะครอบคลุ​มบริการทางการแพทย์ที่จำเป็นตามเงื่อนไขสุขภาพในแต่ละช่วงเวลา ทดแทนการนำเสนอแบบ Universal Package ที่ต้องชำระเงินล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ที่อยู่อาศัยแบบ Continuing Care นี้เป็นที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เนื่องจากจะสร้างความเชื่อมั่นและเป็นหลักประกันในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุได้

                  2) การปรับกลยุทธ์การตลาดและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการซื้อของผู้สูงอายุให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น โดยเน้นกลุ่มราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อหน่วย รวมถึงการขยายกลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิ์ซื้อไปสู่กลุ่มที่ดูแลผู้สูงอายุ และวัยทำงานที่วางแผนที่อยู่อาศัยหลังเกษียณล่วงหน้า ตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป โดยอาจนำเสนอรูปแบบการซื้อสิทธิ์ในลักษณะผ่อนชำระระยะยาว สำหรับเข้าอยู่เมื่ออายุถึงตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการจ่ายเป็นเงินก้อน และดำเนินการควบคู่ไปกับการนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนให้มีการวางแผนการเงินสำหรับที่อยู่อาศัยหลังเกษียณ เช่น ในประเทศสิงคโปร์ที่กำหนดให้มีการออมภาคบังคับผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Central Provident Fund) เพื่อเป็นค่าที่พักอาศัย บริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ

                 กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทั้ง 2 แนวทางข้างต้น น่าจะช่วยให้ธุรกิจที่พักอาศัยผู้สูงอายุให้สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่มีเงินออมเพียงพอได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจยังต้องอาศัยปัจจัยส่งเสริมประกอบด้วย เช่น ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาลรัฐ เพื่อให้มีมาตรฐานที่ได้รับการรับรองและน่าเชื่อถือสำหรับการเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้พัฒนาโครงการที่พักผู้สูงอายุบนที่ดินของรัฐ การร่วมลงทุนพัฒนาโครงการกับรัฐและแบ่งพื้นที่บางส่วนเป็นที่พักผู้สูงอายุของรัฐ การสนับสนุนให้ Startup ที่มีความเชี่ยวชาญร่วมพัฒนาโครงการ ซึ่งหากสามารถขยายตลาดดังกล่าวให้ครอบคลุมกลุ่มผู้อายุได้มากขึ้น
ก็จะเป็นผลบวกต่อการจัดการสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุของไทยในระยะยาวด้วย 



[1] สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ หมายถึง จำนวนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14% ของประชากรทั้งหมด

[2] สังคมสูงอายุระดับสุดยอด หมายถึง จำนวนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด

[3] สำนักงานสถิติแห่งชาติ


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest