Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 มกราคม 2565

Econ Digest

วิกฤติโลก...วิกฤติเรา ลด-แยกขยะ…ช่วยโลก ช่วยเรา

คะแนนเฉลี่ย

​       นักวิทยาศาสตร์จากสหภาพยุโรปได้มีการเปิดเผยงานวิจัยล่าสุดเมื่อ 10 ม.ค. 2565 โดยพบว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา โลกได้ร้อนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.1-1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับในช่วงปี ค.ศ. 1850 โดยในปีที่แล้วนั้น มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ (CO2) และ มีเทน (CH4) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศสูงเป็นประวัติการณ์1  ซึ่งผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีการใช้อย่างแพร่หลายนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก โดยขยะพลาสติกนั้น จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และเอทิลีนในกระบวนการทำลายและการย่อยสลาย2

         ในช่วงที่สองปีที่ผ่านมานี้ ความนิยมในการบริการสั่งอาหารแบบส่งตรงถึงที่พัก หรือ Food Delivery เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงมาตรการ work from home
ที่ทำให้ประชาชนนิยมสั่งอาหารไปรับประทานที่บ้าน ซึ่งการขยายตัวของ Food Delivery ดังกล่าว มาพร้อมกับผลกระทบต่อปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2564 ปริมาณขยะได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,600 ตัน/วัน จาก 8,800 ตัน/วัน เมื่อเทียบในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอัตราการเกิดขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจาก 96 กรัม/คน/วัน ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิดในปี 2562 เป็น 139 กรัม/คน/วัน3  ในปัจจุบัน หรือหากเทียบเคียงจำนวนชิ้นของขยะพลาสติก พบว่าอัตราเฉลี่ยได้เพิ่มขึ้นจาก 7 ชิ้น เป็น 9 ชิ้น4  ซึ่งขยะพลาสติกดังกล่าวสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียงร้อยละ 25 ของปริมาณขยะพลาสติกหลังการบริโภค5 

         ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการการขยายตัวของธุรกิจ Food Delivery ในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 โดยมีมูลค่าสูงถึง 7.9 หมื่นล้านบาท6  ซึ่งการเติบโตของธุรกิจ Food Delivery ดังกล่าวนี้ อาจมาควบคู่กับขยะพลาสติกที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2565 เป็นปริมาณสูงถึง 3,684 ล้านชิ้น7 หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 55,260 ตัน หรือเทียบเท่ากับน้ำหนักของช้างถึงจำนวน 13,815 เชือก8  ทั้งนี้ หากคิด Carbon Footprint หรือปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการใช้พลาสติกจำนวนดังกล่าว จะอยู่ที่ 331,560 ตัน9  และคาดว่าขยะพลาสติกจาก Food Delivery ที่จะไม่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับการคัดแยกขยะจากต้นทางที่ถูกวิธี (สัดส่วนประมาณร้อยละ 75) มีมูลค่าสูงถึง 174 ล้านบาท10

         ทั้งนี้ ภาครัฐได้มีเป้าหมายในปี 2565 ที่จะลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ส่งกำจัดร้อยละ 30 และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 4 ชนิด ได้แก่  (1) ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน (2) กล่องโฟม บรรจุอาหาร (3) แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ (4) หลอดพลาสติก  และสนับสนุนการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำพลาสติก 7 ชนิด กลับมารีไซเคิลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้แก่ (1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว (2) บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว (3) ขวดพลาสติกทุกชนิด (4) ฝาขวด (5) แก้วพลาสติก (6) ถาด/กล่องอาหาร และ (7) ช้อน/ส้อม/มีดพลาสติก ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565)11   อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวของภาครัฐไม่ได้มีการออกเป็นกฎหมายหรือมาตรการบังคับใช้กับประชาชนดังเช่นในต่างประเทศ อาทิ ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น หรือ จีน ที่มีมาตรการห้ามการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงมาตรการในการคัดแยกขยะรีไซเคิลที่เข้มงวด ดังนั้น หากจะให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในประเทศไทย ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักถึงปัญหาและร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปริมาณขยะและคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี อันจะช่วยให้กระบวนการกำจัดขยะมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน




----------------------------------------------------
1/ https://www.reuters.com/markets/commodities/eu-scientists-call-action-greenhouse-gas-levels-hit-high-2021-2022-01-10//1
2/ มีเทน (methane) มีคุณสมบัติที่ทำให้โลกร้อนขึ้นมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 80 เท่า แต่จะอยู่ในชั้นบรรยากาศในระยะสั้นกว่าที่ 12 ปี ขณะที่คาร์บอนไดออกไซด์จะอยู่ในชั้นบรรยากาศได้กว่า 100 ปี  (อ้างอิงจาก https://www.sdgmove.com/2021/09/09/reducing-methane-emissions-the-fastest-way-to-reduce-global-warming/  และ https://www.unep.org/news-and-stories/story/double-trouble-plastics-found-emit-potent-greenhouse-gases)
3/ https://www.thaipost.net/main/detail/106333
4/ เทียบเคียงขยะพลาสติกเฉลี่ย 1 ชิ้นต่อ น้ำหนัก 15 กรัม (อ้างอิงจาก บุญชนิต ว่องประพิณกุล และ สุจิตรา วาสนาดำรงดี. (2564).
“ขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารออนไลน์” สถานการณ์ปัญหาและแนวทางแก้ไข (ตอนที่ 1). วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1). http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6137/301)
5/ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ (https://www.pcd.go.th/garbage/มาตรการลด-และคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ-และการขับเคลื่อนการดำเนินงานลด-และคัดแยกขยะมูลฝอย-การฝึกอบรมการลด-และค/)
6/ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, “Food Delivery ปี 2565 ขชยายตัวต่อเนื่อง ผู้ให้บริการแอพพลิเคชันรกพื้นที่ต่างจังหวัดขยายฐานลูกค้าใหม่” Current Issue ปีที่ 27 ฉบับที่ 3289 วันที่ 8 ธันวาคม 2564
7/ ประมาณการโดยผู้วิจัย
8/ เทียบเคียงน้ำหนักของช้าง 1 ตัว ที่ 4 ตัน
9/ คิดเทียบ Carbon Footprint ของพลาสติก 1 ก.ก. ผลิต CO2 6 ก.ก. (https://stopplastics.ca/carbon-footprint-plastic)
10/ คิดอัตราราคารีไซเคิลพลาสติกรวมเฉลี่ยที่ 3 บาทต่อ ก.ก. และขวดพลาสติกเฉลี่ยที่ 8 บาทต่อ ก.ก. (ราคา ณ 13 ม.ค. 65, http://www.wongpanit.com/print_history_price/1398)
11/ https://www.pcd.go.th/pcd_news/15917/ และ https://www.pcd.go.th/publication/15038/



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest