Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 มีนาคม 2564

Econ Digest

ดอกเบี้ย...ลดหรือไม่? เช็คสัญญากู้ยืมเงินให้ดี

คะแนนเฉลี่ย

                      เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ย 2 มาตรา ซึ่งจะทำให้มีการปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยและวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัด เพื่อเป็นการช่วยเหลือและสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกหนี้ และเป็นการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากที่ไม่ได้มีการแก้ไขมานานถึง 95 ปีตั้งแต่ปี 2468 
                    เรื่องสำคัญที่ทางการกำลังดำเนินการเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยจะมีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ (1) อัตราดอกเบี้ยในกรณีที่สัญญาไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน [มาตรา 7 ปพพ.] ปรับลดลงมาเป็นอัตราคงที่ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี จากเดิมที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี และ (2) อัตราดอกเบี้ยผิดนัด ซึ่งให้ปรับลดลงมาที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี จากเดิมที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี [มาตรา 224 ปพพ.] นอกจากนี้ยังปรับปรุงวิธีการคิดดอกเบี้ยกรณีผิดนัด โดยให้คิดดอกเบี้ยผิดนัด เฉพาะเงินต้นของงวดที่ผิดนัดเท่านั้น เทียบกับเดิมที่จะคิดบนต้นเงินที่ค้างอยู่ทั้งหมด
                   การปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามร่างแก้ไขเพิ่มเติม ปพพ. ดังกล่าว จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก่อน ซึ่งอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่ต้องตรวจสอบและทำความเข้าใจกันอีกครั้งหลังจากนี้ และหากมีการบังคับใช้จริงแล้ว ในมุมของลูกหนี้ คงต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่า สัญญาเงินกู้ของตนเข้าข่ายตามการแก้ไขเพิ่มเติม ปพพ. ดังกล่าว (อาทิ เป็นสัญญาการกู้ยืมระหว่างบุคคล-บุคคลโดยไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้อย่างชัดเจนในสัญญา) หรือไม่ เพราะหากเป็นกรณีอื่น อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดก็จะเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะอื่น อาทิ ในกรณีที่เป็นสัญญากู้เงินจากสถาบันการเงิน ข้อกำหนดเรื่องดอกเบี้ยของสินเชื่อแต่ละประเภทก็จะเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย 
                  ในส่วนของสถาบันการเงินนั้น ก็กำลังจะมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ ด้วยเช่นกัน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เกณฑ์ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในส่วนของสถาบันการเงินนี้มีความสอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมปพพ. ดังกล่าวข้างต้นอยู่หลายส่วน โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระ และฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะคำนวณจากฐานเงินต้นที่มีการผิดนัดชำระตามความเป็นจริง โดยไม่รวมงวดในอนาคตที่ยังไม่มาถึง เพื่อช่วยลดภาระหนี้ สร้างความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ 
                   ​ข้อมูลเพิ่มเติม: เกณฑ์เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะมีผลบังคับใช้กับสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ บริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงินในวันที่ 1 เม.ย. 2564 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 กับกลุ่มนาโนไฟแนนซ์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ นอกจากนี้ จะมีเกณฑ์การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ ซึ่งจะบังคับใช้กับผู้ให้บริการทางการเงินทุกแห่งในวันที่ 1 ก.ค. 2564 ด้วยเช่นกัน




Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest