Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 พฤศจิกายน 2564

Econ Digest

"คืนรถ...จบหนี้" มีเรื่องต้องพิจารณา

คะแนนเฉลี่ย
​“คืนรถจบหนี้” เป็น 1 ใน 15 ข้อ ที่ถูกบรรจุในร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฉบับใหม่ ด้วยเจตนาในการช่วยเหลือผู้บริโภคที่ไม่สามารถชำระค่างวดได้ ให้สามารถบอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบรถคืนให้แก่ผู้ให้บริการเช่าซื้อได้ โดยไม่ต้องรับภาระหนี้ส่วนขาด อย่างไรก็ดี หลังการเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณะผ่านไปแล้วเมื่อต้นเดือน พ.ย. ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ยังเปิดให้มีการหารือและรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง โดยที่ยังไม่มีบทสรุปท้ายสุด ณ เวลานี้   
ปัจจุบัน การคืนรถเป็นแนวทางหนึ่งภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่สามที่สถาบันการเงินสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 และไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อได้ โดยหากมูลค่ารถที่คืนต่ำกว่าภาระหนี้ตามสัญญา สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการเช่าซื้อสามารถช่วยลดภาระหนี้ส่วนต่างที่ยังเหลืออยู่ให้สอดคล้องกับสถานะทางการเงินและความสามารถในการผ่อนชำระคืนของลูกหนี้ได้ ซึ่งแนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านการผ่อนปรนเกณฑ์อื่นๆ เพื่อบรรเทาภาระทางการเงินให้แก่สถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้อจำกัดด้านผู้ให้บริการเช่าซื้อที่มีทั้งสถาบันการเงินและบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน จึงอาจทำให้ลูกค้าแต่ละกลุ่มได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบที่แตกต่างกัน
แนวทางการเพิ่มเรื่องคืนรถจบหนี้ ในร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาของ สคบ. จะช่วยให้ลูกค้าเช่าซื้อรถที่เป็นบุคคลธรรมดาและใช้เป็นรถส่วนบุคคล มีโอกาสขอรับความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการเช่าซื้อแต่ละรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การออกกฎเกณฑ์ที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป ประกอบกับเป็นเกณฑ์ที่สร้างความกังวลเกี่ยวกับปัญหา Moral Hazard ที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมลูกค้าเช่าซื้อบางราย ซึ่งใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาเพื่อประโยชน์ส่วนตน อาทิ เปลี่ยนใจเพราะราคารถที่ซื้อมาปรับลดลงเร็วกว่าคาด (ดังกรณีที่ค่ายรถประกาศลดราคาเพื่อเลิกกิจการหรือเลิกการผลิตรถรุ่นนั้น) หรือมีรถรุ่นใหม่ที่ราคาน่าสนใจกว่า อันเป็นการผลักภาระและสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ให้บริการเช่าซื้อโดยไม่มีเหตุอันควร ดังนั้น แนวทางการเปิดโอกาสให้ลูกค้าผู้เช่าซื้อสามารถเลือกคืนรถได้เพื่อจบหนี้ได้นั้นจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ต้องมีการวางกรอบแนวปฏิบัติที่เป็นธรรม (Market Conduct) เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่ก่อผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจและสังคม โดยอาจสามารถดำเนินการได้ในหลายลักษณะ เช่น

กำหนดเงื่อนไขหรือคุณสมบัติของลูกค้าเช่าซื้อที่ขอใช้สิทธิ์คืนรถเพื่อจบหนี้ เช่น มีรายได้ลดลง ประสบอุบัติเหตุร้ายแรง หรือมีรายจ่ายพิเศษจำนวนมากที่ไม่คาดคิดมาก่อน เป็นต้น 
คืนรถ ลดหนี้ กล่าวคือลูกหนี้ยังต้องรับภาระติ่งหนี้ที่เหลือและทยอยชำระคืนในช่วงเวลาที่ตกลงกัน แต่ถ้าหนี้ส่วนขาดไม่มากและผู้ให้บริการเช่าซื้อใจดีจบหนี้ให้ก็เป็นโชคดีของลูกหนี้ ซึ่งแนวทางนี้คล้ายกับแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของธปท. ซึ่งสำหรับมุมของลูกหนี้ก็จะมีทางเลือกมากขึ้นในยามที่ไม่พร้อมรับภาระหนี้ ขณะที่ผู้ให้บริการเช่าซื้อก็จะได้ไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายและส่วนสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นไว้ทั้งหมด อย่างไรก็ดีลูกหนี้อาจต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของผู้ให้บริการที่อาจมีเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
อาจมีการบันทึกข้อมูลด้านเครดิตไว้เป็นส่วนกลาง เพื่อเตือนผู้ให้บริการเช่าซื้อได้เห็นประวัติของลูกค้าที่ยื่นขอเช่าซื้อรถ สำหรับประกอบการพิจารณาความเสี่ยงเครดิต ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเตือนให้ลูกหนี้หยุดคิดก่อนใช้วิธีคืนรถจบหนี้โดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งจะช่วยลดและยับยั้งปัญหา Moral Hazard ได้ในระดับหนึ่ง
​​


การบุกเบิกโลกใหม่ใบเดิม ระหว่างสัญญาทางธุรกิจกับวิถีการคุ้มครองผู้บริโภคที่พึงมี จำเป็นต้องอยู่บนรากฐานของเหตุปัจจัยที่เหมาะสม ซึ่งต้องติดตามผลการหารือร่วมกันระหว่าง สคบ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการหาข้อยุติที่เป็นประโยชน์และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย 
รอบหน้ามาติดตามประเด็นร้อน สคบ.-เช่าซื้อ ในอีก 2 เรื่อง ดังนี้
(1) การ Haircut ติ่งหนี้ที่เหลือหลังขายทอดตลาด ซึ่ง สคบ. เสนอให้ผู้ให้บริการเช่าซื้อและผู้เช่าซื้อร่วมรับภาระส่วนสูญเสียคนละครึ่ง
(2) การให้ส่วนลดปิดบัญชีก่อนกำหนด ซึ่งปัจจุบันมีส่วนลด 50% แต่ สคบ. เสนอให้ปรับเพิ่มเป็น 80% ของดอกเบี้ยตามสัญญาที่ยังไม่เกิดขึ้น ขอขอบคุณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเช่าซื้อ


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest