Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 กรกฎาคม 2564

รีไฟแนนซ์ สินเชื่อบ้านปี 2564 ตัวช่วยยุคโควิด

คะแนนเฉลี่ย


การรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ข้อเสนอของการรีไฟแนนซ์บ้านปีนี้มีให้เลือกยิ่งกว่าแค่การลดภาระดอกเบี้ยให้ต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้กู้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี และยังมีรายได้สม่ำเสมอแม้ว่ารายได้บางส่วนอาจถูกกระทบจากโควิด 19 ไปบ้างก็ตาม 
ก่อนโควิด 19 มาเยือนไทยในปี 2563 กล่าวได้ว่าเป้าหมายหลักในการทำรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน คือ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและช่วยให้ผ่อนได้หมดไวขึ้น เนื่องจากส่วนต่างของดอกเบี้ยบ้านหลังสิ้นสุดช่วงดอกเบี้ยพิเศษ 1-3 ปีแรก จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% แต่ด้วยผลกระทบจากโควิด 19 ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างการผ่อนตามสัญญากู้ยืมเดิมกับการทำรีไฟแนนซ์ใหม่แคบลงมาอยู่ในช่วง 0.50-1.75% ขึ้นอยู่กับธนาคารที่กู้ยืม ซึ่งอาจลดทอนแรงจูงใจในการทำรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านของลูกค้าบางกลุ่มลง โดยเฉพาะลูกค้าธนาคารขนาดใหญ่ที่สัญญาเดิมให้ส่วนลดดอกเบี้ยจากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวตาม MLR หรือ MRR ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง MLR และ MRR ปรับตัวลดลงจากสถานการณ์โควิดรวมเฉลี่ย 0.78% และ 1.15% ตามลำดับ มาที่ระดับ 5.25-6.50% และ 5.95-7.35% หลังจากที่ทรงตัวมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 
แม้ว่าปัญหาดอกเบี้ยแพงจะบรรเทาลง แต่หากจำเป็นต้องปรับลดภาระการผ่อนให้สอดคล้องกับรายได้ ไปจนถึงต้องการเติมสภาพคล่องทางการเงินเพื่อรับมือกับวิกฤติโควิดที่ยืดเยื้อ >> การทำรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านอาจเป็นทางออกหนึ่งที่พึงพิจารณา เนื่องจากธนาคารบางแห่งมีข้อเสนอให้
​​

สามารถขอวงเงินสินเชื่อส่วนเพิ่มได้ในอัตราดอกเบี้ยที่บวกเพิ่มจากวงเงินรีไฟแนนซ์บ้านเพียง 0.5% เท่านั้น ขณะที่ เดิมการขอวงเงินสินเชื่อส่วนเพิ่มถูกคิดเสมือนเป็นวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลทำให้ดอกเบี้ยแพงมากในระดับเฉลี่ย 10-20% ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร
ขอกู้ได้สูงสุดเมื่อรวมกับวงเงินรีไฟแนนซ์แล้วถึง 100% ของมูลค่าหลักประกัน เนื่องจากการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านต้องไม่สูงกว่ายอดหนี้ที่เหลืออยู่เท่านั้นเพื่อคงสิทธิ์การขอลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 
สามารถเลือกขยายระยะเวลาการผ่อนชำระใหม่ได้นานขึ้นจนถึงอายุผู้กู้เมื่อจบสัญญาไม่เกิน 70 ปี ซึ่งช่วยลดภาระการผ่อนต่อเดือนลงได้อย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นโจทย์ที่สอดคล้องกับผู้บริโภคบางกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูรายได้ให้กลับสู่ภาวะก่อนโควิด 

รีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มี Tips สำหรับมือใหม่ที่เตรียมรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน คือ
ควรหาข้อมูลเบื้องต้นจากเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อเสนอการรีไฟแนนซ์บ้านจากธนาคารต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและช่วยคัดกรองธนาคารเป้าหมายได้ในระดับหนึ่ง จากนั้นให้เข้าเว็บไซต์ธนาคารที่เลือกไว้เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมว่าข้อเสนอตรงกับโจทย์การรีไฟแนนซ์ของเราหรือไม่ โดยคัดเลือกธนาคารที่สนใจขอสินเชื่อไว้ 3-4 ราย เพื่อเปรียบเทียบ
หลังเลือกธนาคารที่สนใจได้แล้ว สิ่งที่ต้องเตรียมต่อไปคือ >> 1. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสัญญากู้ยืมเดิมครบกำหนด 3 ปีในวันใด และกำหนดวันเริ่มสัญญาใหม่หลังจากนั้น เพื่อไม่ต้องเสียค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดสูงสุดถึง 3% ของยอดหนี้ที่เหลืออยู่ 2. เตรียมสำเนาเอกสารประกอบการขอสินเชื่อ ซึ่งนอกจากเอกสารส่วนบุคคลสำหรับยืนยันตัวตนและรายได้ (สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบทะเบียนสมรส สลิปเงินเดือน/เอกสาร 50 ทวิ และรายการเดินบัญชี) เอกสารแสดงหลักประกัน (สำเนาโฉนด ใบรับรองกรรมสิทธิ์ห้องชุด) และสำเนาสัญญากู้ยืมเดิมแล้ว ยังต้องมีใ​บเสร็จรับเงินจากการชำระค่างวดอย่างน้อย 6-12 งวดล่าสุดอีกด้วย     
อ่านข้อเสนอให้มาก คิดตามและตั้งคำถามโดยเปรียบเทียบกับภาระการผ่อนหนี้รวมของเราในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้เรารีไฟแนนซ์ไปยังธนาคารที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด จะได้ไม่เสียใจและไม่ติดอยู่กับการเสียโอกาสไปอีกหลายปี     



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น