Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 เมษายน 2564

Econ Digest

ออมน้อย...ผ่อนหนัก ลูกหนี้กลุ่มไหนเริ่มมีปัญหา?

คะแนนเฉลี่ย
สัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ฐานะทางการเงินของลูกหนี้หลายกลุ่มตึงตัวมากขึ้น ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงทำการวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวจากฐานข้อมูลผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติในปี 2562 เทียบกับผลสำรวจในปี 2560 พบว่า ภาพรวมครัวเรือนไทยทั้งประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนลดลงเร็วกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน แต่ภาระหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลทำให้ระดับการออมของครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยมีสถานะที่อ่อนแอลง เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ความเปราะบางในระดับลูกหนี้รายย่อยได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทำการแบ่งลูกหนี้รายย่อยออกเป็นกลุ่มๆ ตามระดับรายได้ต่อเดือน โดยไล่เรียงจากกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท ไปจนถึงกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่า 500,000 บาท โดยข้อมูลที่ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่สมดุลระหว่างระดับรายได้ ภาระหนี้ และเงินออม ซึ่งภาพดังกล่าวทวีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้น้อย




ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในขณะที่ภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR (Debt Service Ratio) โดยเฉลี่ยของลูกหนี้ทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 27.0% แต่ลูกหนี้ในกลุ่มรายได้น้อยหรือมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน กลับมี DSR อยู่ในระดับสูง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ของทั้งประเทศหลายเท่า อาทิ ลูกหนี้ในกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 5,001-10,000 บาทต่อเดือน มี DSR ประมาณ 40% และมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้เพียง 14% ซึ่งหมายถึง รายได้ทุกๆ 100 บาทที่หามาได้ ต้องนำไปผ่อนชำระหนี้ 40 บาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้วเหลือเก็บเป็นเงินออมเพียง 14 บาท ขณะที่ลูกหนี้ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน มี DSR ที่สูงถึง 84% ซึ่งหมายถึงรายได้ทุกๆ 100 บาทที่หามาได้ ต้องผ่อนคืนหนี้สูงถึง 84 บาท ซึ่งทำให้ลูกหนี้ในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะแก้ปัญหารายจ่ายเฉพาะหน้าในแต่ละวันด้วยการก่อหนี้ก้อนใหม่ไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะตกอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว สถานการณ์ความไม่สมดุลระหว่างรายได้-หนี้สิน-เงินออมของลูกหนี้ที่มีรายได้ปานกลาง หรือในช่วงระหว่าง 20,001-50,000 บาทต่อเดือน มีความรุนแรงลดลง เพราะภาระหนี้ต่อรายได้ และเงินออมต่อรายได้มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน แต่คงต้องยอมรับว่า ลูกหนี้ในกลุ่มนี้จะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาวินัยทางการเงินให้เคร่งครัดมากขึ้น เพราะสถานะทางการเงินอาจจะเริ่มทยอยตึงตัวมากขึ้น หากทำการก่อหนี้ก้อนใหม่ สุดท้ายนี้...คงต้องยอมรับว่า ข้อมูลสถิติข้างต้นสะท้อนภาพรวมสถานะทางการเงินของกลุ่มลูกหนี้ในขณะที่ภาระหนี้และการออมในระดับบุคคล คงมีความแตกต่างกันตามเหตุและผล รวมถึงพฤติกรรมของแต่ละปัจเจกบุคคล แต่อย่างน้อยข้อมูลในส่วนนี้สามารถใช้เป็นตัวสะท้อนให้ตระหนักว่า หากออมน้อยกว่าหนี้ในภาวะที่สถานการณ์ต่างๆ จะยังมีความไม่แน่นอนสูงไปอีกระยะ ก็จะทำให้ลูกหนี้ต้องรับมือกับโจทย์ที่ยากลำบากในระยะยาว ดังนั้นแล้ว ทุกท่านควรให้ความสำคัญกับการสะสมเงินออมก่อนรู้จักวิธีการก่อหนี้ การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม แต่จะต้องรู้เท่าทันและตระหนักถึงความสามารถในการชำระคืนหนี้ของตนเองด้วยไปพร้อมกัน สำหรับคนที่เป็นหนี้แล้วและมีปัญหาการชำระหนี้ สามารถคุยกับสถาบันการเงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ไปจนถึงพักชำระเงินต้นตามมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินซึ่งสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อไม่ให้ภาระหนี้สะสมจนกลายเป็นปัญหาปานปลาย

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest