Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 กุมภาพันธ์ 2563

Econ Digest

อุตสาหกรรมภาคตะวันออก เสี่ยงขาดน้ำ

คะแนนเฉลี่ย

​​           นับแต่ปลายปี 2562 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งมีการประเมินกันว่าจะมีความรุนแรงมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี โดยมีปริมาณน้ำสำรองที่ใช้การได้ทั้งประเทศก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งปี 2563 เพียง 26,666 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงกว่าร้อยละ 30 จากฤดูแล้งปี 2562 และมีโอกาสที่สถานการณ์จะทวีความรุนแรงขึ้นจากฝนที่อาจจะทิ้งช่วงยาวนานจนถึงปลายเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ สถานการณ์ภัยแล้งดังกล่าวได้ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม แต่ยังส่งผลต่อน้ำที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมด้วย

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า พื้นที่อุตสาหกรรมที่มีโอกาสประสบปัญหาขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่จะถึงนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 76 ของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันกำลังประสบภาวะปริมาณน้ำที่ใช้การได้ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่ที่ใช้การได้ทั้งหมด หรือคิดเป็นราว 572 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นน้ำที่จะถูกจัดสรรให้กับภาคอุตสาหกรรมราว 120 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำสำรองที่อยู่ในระดับต่ำและสามารถใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้เพียง 84 วัน หรือถึงราวปลายเดือนพฤษภาคม โดยโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำใช้ในกระบวนการผลิตในระยะข้างหน้า หากไม่มีฝนตกหรือมาตรการอื่นรองรับ

           เมื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม จะพบว่า กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมภาคตะวันออกที่น่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีความต้องการน้ำในกระบวนการผลิตและจำนวนโรงงานมากที่สุด ในขณะที่กลุ่มเคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อโลหะ เช่น แก้ว ปูน และกระเบื้อง เป็นต้น น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรองลงมา สำหรับกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม แม้จะมีความต้องการน้ำในกระบวนการผลิตสูง แต่จำนวนโรงงานที่ลดน้อยลงจากการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ผลกระทบโดยรวมน่าจะน้อยกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่น

           เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากภัยแล้งในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว ปัจจุบัน ทั้งภาครัฐและเอกชนได้เตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกงหรือแหล่งน้ำอื่นไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออก หรือแม้แต่การรณรงค์ให้ช่วยกันลดปริมาณการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมลงร้อยละ 10 และการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนใช้น้ำซ้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ แนวโน้มอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตามเศรษฐกิจ และการส่งออกที่อาจจะชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกของปี ก็น่าจะมีส่วนกดดันการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีส่วนลดปริมาณการใช้น้ำในทางอ้อม ภายใต้มาตรการและสถานการณ์ดังกล่าว ก็อาจหนุนให้ปริมาณน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่คาดการณ์กันว่าไทยจะเข้าสู่ช่วงเริ่มต้นฤดูฝนในปีนี้

สำหรับในระยะยาว บนสถานการณ์ที่ความต้องการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการผลักดันเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งของพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือแม้แต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญของไทย เป็นต้น โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คาดว่า ในปี 2580 ความต้องการน้ำดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นอีกราวร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับระดับความต้องการน้ำในปัจจุบัน โดยเป็นความต้องการในภาคเกษตรราวร้อยละ 60 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 28 และภาคอุปโภคบริโภคราวร้อยละ 13 ประกอบกับภาวะภัยแล้งที่น่าจะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นจากสถานการณ์โลกร้อน ทำให้เรื่องความมั่นคงทางน้ำกลายเป็นโจทย์สำคัญของไทยที่ต้องดำเนินการแก้ไข

              ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำ และสร้างสมดุลการใช้น้ำระหว่างภาคส่วนต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพนั้น นอกเหนือจากการสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมแล้ว การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคอุปโภคบริโภค เพื่อควบคุมหรือลดการใช้น้ำก็มีส่วนสำคัญ เช่น การใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้นและอุณหภูมิของดินเพื่อควบคุมการให้น้ำแก่พืชอย่างแม่นยำ การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้น้ำ หรือแม้แต่การใช้เซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดการรั่วไหลของท่อน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภค เป็นต้น นอกจากวิธีการต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ในระยะยาว เพื่อลดการพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ก็น่าจะเป็นแนวทางสำคัญอันหนึ่งในการแก้ปัญหาความมั่นคงทางน้ำ พร้อมทั้งสร้างสมดุลการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆ ได้

คต


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest