เงินบาทแข็งค่าไปที่ระดับ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งนับเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 5 ปี โดยทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท ยังคงสอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขายเพิ่มเติม ท่ามกลางความคาดหวังมากขึ้นว่า การเจรจาเพื่อลดข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน น่าจะมีสัญญาณที่โน้มเอียงไปในทางที่ดีขึ้น โดยการลดความกังวลของนักลงทุน ทำให้ความต้องการสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น เงินดอลลาร์ฯ และเงินเยน ลดลงตามไปด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้นักลงทุนต่างชาติจะมีสถานะขายสุทธิทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย รวมกันประมาณ 20.4 พันล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี 2562 แต่เงินบาทก็ยังมีแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ โดยเฉพาะเงินหยวนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 4.7% เป็นอันดับที่หนึ่งของสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ เงินหยวนแข็งค่า 2.2% ตามมาเป็นอันดับที่ 3 (รองจากเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 3.7%) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินของประเทศที่เป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งของไทย น่าจะเพิ่มแรงกดดัน และมีผลกระทบต่อเนื่องต่อธุรกิจในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว
ในระยะข้างหน้า ปัจจัยสำคัญในระยะสั้นที่อาจมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาท ประกอบด้วย ผลการเจรจาเพื่อลดข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สัญญาณดอกเบี้ยจากการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รอบวันที่ 19-20 มี.ค. 2562 และประเด็นความเสี่ยงอื่นๆ อาทิ สถานการณ์ BREXIT ของอังกฤษ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากความคืบหน้าของผลการเจรจาของสหรัฐฯ-จีนเป็นไปในทางบวก และสหรัฐฯ มีท่าทีที่ยืดหยุ่นมากขึ้นต่อกำหนดเวลาการปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีน หรือเฟดยังคงสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมี.ค. นี้แล้ว เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจะยังคงเผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เงินบาทยังมีโอกาสที่จะขยับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังจากขยับเข้าใกล้แนว 31.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ แล้วในขณะนี้
ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า นอกจากความผันผวนของเงินบาทจะเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจแล้ว ยังเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับทางการไทย ซึ่งต้องดูแลความผันผวนของค่าเงินด้วยเครื่องมือที่ค่อนข้างจำกัด เพราะมาตรการที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ยังไม่ใช่ทางเลือกสำหรับสภาวะที่ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติของกระแสเงินทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น